วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เคล็ดลับ..เสริมพัฒนาการให้เจ้าตัวน้อย

เมื่อผ่านพ้นจากวัยแห่งการคืบคลานมาแล้ว ต่อจากนี้ไปซิ…
เริ่มเป็นไคล์แมกซ์ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตื่นเต้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะเจ้าหนูวัย 9 -12 เดือน จะซุกซน เคลื่อนไหวและเล่นได้อย่างอิสระมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็นวัย “นักเกาะมืออาชีพ” ซึ่งเป็นวัยแรกเริ่มของการเดินเตาะแตะในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาจะรู้ว่าโตขึ้นแล้ว เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และรู้จักการปฏิเสธมากขึ้น ดังนั้นบทบาทของคุณพ่อคุณแม่ต่อการเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ จึงมีส่วนสำคัญเป็นอันมากค่ะ

หม่ำ หม่ำ ในช่วงวัยนี้ยังคงหม่ำนมเป็นอาหารหลัก และให้อาหารเสริมตามวัย 2 มื้อแต่อาจจะเน้นมากขึ้นตามวัยที่โตขึ้นก็ได้ค่ะ ซึ่งต่อไปนี้เป็นโปรแกรมอาหารของเด็กที่ควรรู้

นม ส่วนมากเด็กผู้ชายมักจะหม่ำเก่งมากกว่าเด็กผู้หญิงค่ะ สำหรับเด็กที่หม่ำนมวัวผสม ควรเป็นนมที่เหมาะสมสำหรับอายุ แต่ไม่ควรให้ในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยทั่วๆ ไป ถึงแม้เด็กจะโตแล้วก็ไม่ควรให้หม่ำเกินวันละ 1 ลิตร (1,000 ซี.ซี.) เพราะจะทำให้เป็นโรคอ้วนได้

โปรตีน ที่มีอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อแดงไม่ติดมัน ไข่ นม ถั่วฝักอ่อน และโดยเฉพาะในเนื้อปลาทะเลลึกอย่าง ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า จะดีเป็นพิเศษ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยในการซ่อมแซมเซลล์เนื้อเยื่อที่สึกหรอ และการเจริญเติบโตของสมอง

ผลไม้ วิตามินต่างๆ มีบทบาทสำคัญในกระบวนการดูดซึมและให้พลังงานแก่สมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ ผลไม้ตระกูลส้มมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูง ซึ่งช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้นกันในร่างกายด้วยค่ะ ควรเน้นผลไม้ เช่น ส้ม มะม่วง องุ่น พีช แตงโม ฯลฯ

ผัก ในแต่ละวันควรให้ทานผักมากๆ ค่ะ เพราะอุดมด้วยสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ มีอยู่ผักสีต่างๆ เช่น ฟักทอง รวมถึงผักบุ้ง ช่วยให้ประสาทตากับสมองทำงานเชื่อมโยงกัน วิตามินบี มีอยู่ในธัญพืช ผักสีเขียว ฯลฯ ช่วยให้ความคิดอ่านโลดแล่น

ตั้งไข่ล้ม

ส่วนใหญ่เด็กมักจะตั้งไข่เมื่ออายุ 9 - 12 เดือน คุณแม่คงจะพอมีเวลาค่อยๆ หัดไป พยายามหาของเล่นมาชูหลอกล่อให้เขายืนอย่างมั่นคง หรือเรียกชื่อเขาให้หันมาหา ให้ฟังเพลงและดนตรีที่สนุกสนาน แต่อย่าเคี่ยวเข็ญว่า ต้องทำได้ทันทีทันใดนะคะ อาจทำให้ลูกรู้สึกกลัว ต้องค่อยๆ สร้างความมั่นใจให้ลูกกล้ายืน ไม่กลัวล้ม ไม่กลัวเจ็บ รวมทั้งไม่ควรโอ๋หรืออุ้มมากเกินไปจนลูกไม่เคยลองทำ เพราะอาจทำให้กลัวและมีพัฒนาการด้านนี้ช้าได้

ภาษาที่สนุกสนาน
ควรทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นเคย และสามารถสื่อสารได้เร็วขึ้น

ท่าทางประกอบ
เพื่อสอนภาษาไปพร้อมกัน เช่น ต้องการจะสอนให้ลูกบอกเวลาที่หิวข้าว ขณะที่คุณแม่เอามือไปที่ปาก ก็ให้พูดด้วยว่า “กินข้าว” หรือ “หิวข้าว” เป็นต้น

ประสบการณ์หลากหลาย ควรให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เขาได้คำศัพท์ใหม่ๆ เช่น ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เดินในสนามเด็กเล่น หรือเที่ยวสวนสัตว์ พยายามพูดกับเด็กในแบบง่ายๆ ให้รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ หรือถ้าเคยไปเที่ยวสวนสัตว์ อาจจะเอารูปสัตว์ที่ลูกเจอมาถาม เช่น ถามว่า พี่ไก่สีอะไร และร้องยังไง ฯลฯ

การร้องเพลง หรือคำกลอนง่ายๆ
โดยธรรมชาติเด็กทุกคนจะชอบดนตรีอยู่แล้ว คำกลอนที่มีสัมผัสน่าฟัง เช่น การสอนลูก “จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้าคว้าปูทะเล” "จันทร์เจ้าเอย ขอข้าวขอแกง” เพลงเด็กๆ อีกหลายเพลงก็ช่วยทำให้การเรียนรู้เรื่องภาษาเร็วขึ้น

สมองลูกด้านบวก เพียเจต์ (Piaget) ผู้สร้างทฤษฎีพัฒนาการเชาว์ปัญญา กล่าวไว้ว่า " การเล่นเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางด้านสติปัญญาของเด็ก เด็กจะเริ่มรู้จักการเล่นเมื่ออยู่ในขั้นเรียนรู้จากการสัมผัส (Sensory Motor Period) ” คุณแม่อาจเล่นสมมติ โดยให้ตุ๊กตาพูดคุยโต้ตอบกับลูก นอกจากเป็นการพัฒนาเชาว์ปัญญาแล้ว ยังส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้ดี หรือของเล่นประเภทลากจูง ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อต่างๆได้อย่างดีเช่นกันค่ะ

“อย่า” นะลูก น้องหนูวัยกำลังหัดเกาะเดิน เรื่องอุบัติภัยใกล้ตัวก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นห่วงค่ะ นักวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า สมองเกี่ยวกับการเชื่อมโยงคำพูดกับการกระทำของลูกจะสมบูรณ์เมื่อลูกอายุ 7 - 8 เดือน จึงเป็นช่วงเหมาะสมที่จะสอนลูกแบบเป็นเรื่องเป็นราวได้แล้ว เพราะสมองสามารถประติดประต่อ ระหว่างสิ่งที่ทำกับคำพูดของคุณแม่ได้แล้วค่ะ นอกจากจัดพื้นที่เล่นของลูกให้ปลอดภัยแล้ว การสอนของคุณแม่ก็สำคัญค่ะ อย่างเวลาจะห้ามลูกเล่นอะไรที่ได้รับอันตราย เช่น เอานิ้วมือแหย่พัดลม ดึงปลั๊กไฟ หรือกำลังจับของร้อน ควรใช้คำพูดว่า “อย่า” ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและจริงจัง ในการสอนครั้งแรก เขาอาจไม่เชื่อฟัง ก็ให้คุณแม่อุ้มเขาออกมาจากที่ตรงนั้น ย้ำอีกครั้งว่า “อย่า นะลูก”แค่นี้...ลูกรักก็มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และเจริญเติบโตได้สมวัยแล้วค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น