วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

เชื้อรา!! จากผื่นผ้าอ้อม

ผิวหนังของลูกแรกเกิด ยังเจริญเติบโตไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ต่อมเหงื่อก็ยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ง่าย โดยเฉพาะผดผื่น จากการสวมใส่ผ้าอ้อม ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลสุขภาพผิวลูกน้อยอย่างถูกวิธีค่ะ

เชื้อรา มาจากไหน?

เชื้อรา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการเป็นผื่นผ้าอ้อม มาจาก 2 ปัจจัย คือ ความอับชื้นบวกกับปัสสาวะ-อุจจาระเป็นตัวกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ผิวหนังของลูกเกิดการอักเสบ เป็นแผลถลอกมีลักษณะเป็นจุดๆ สีแดงสดตามขาหนีบ รอยพับ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ลูกมักร้องไห้งอแงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม เพราะลูกรู้สึกปวด แสบ ผิวหนังบริเวณนั้นๆ เมื่อมีการสัมผัส
ดังนั้น หากคุณแม่ดูแลความสะอาดเป็นสำคัญ อาการผื่นผ้าอ้อมมักจะหายได้เอง แต่ถ้าปล่อยให้ผิวลูกสัมผัสอุจจาระและปัสสาวะเป็นเวลานาน หมักหมมจนเกิดการอับชื้น ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้เชื้อโรคเติบโต เกิดการติดเชื้อง่ายมากขึ้น

ป้องกันเชื้อราอย่างไร?

ความไม่สะอาด ความเปียกชื้น เป็นปัจจัยทำให้ เกิดปัญหาเชื้อรา ฉะนั้น การป้องกันอยู่ที่การดูแลของคุณพ่อคุณแม่
ด้วยวิธีการต่อไปนี้
+ ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก
+ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกบ่อยๆ ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณก้น และขาหนีบ
+ ล้างบริเวณก้น ขาหนีบให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า และซับเบาๆ ให้แห้งไม่ให้เปียกชื้น
+ ผ้าอ้อมหรือของใช้ที่ผิวลูกสัมผัส คุณแม่ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด ไม่มีสารเคมีหรือสิ่งสกปรกตกค้าง
+ การใส่ผ้าอ้อมแบบผ้าฝ้ายก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการอับชื้นให้ลูกได้ เพราะระบายอากาศได้ดี

การรักษาเชื้อรา

เพื่อรักษาอาการที่ถูกวิธี ควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนเรื่องเชื้อรา จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อระงับการเจริญเติบโตของเชื้อรา ดังนั้น หากอาการผื่น ผ้าอ้อมของลูกไม่ดีขึ้น เป็นนานหลายวัน ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ ไม่ปล่อยทิ้งไว้ เพราะ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

ทำอย่างไรดี..เมื่อลูกขาโก่ง

ทําไมเบบี๋จึงขาโก่ง?
โดยทั่วไปแล้วเมื่อเบบี๋คลอดออกมา คุณแม่หลายท่านอาจสังเกตเห็นว่าขาและเข่าของลูกโก่งหรือโค้งงอเล็กน้อยทั้งสองข้างหรือข้างเดียว หรือปลายเท้าบิดเข้าด้านใน ซึ่งอาการนี้มักพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด สาเหตุที่ทําให้ลูกขาโก่งอาจเกิดขึ้นเพราะตอนที่อยู่ในท้องแม่ในระยะสุดท้ายก่อนคลอด ตัวเด็กใหญ่ขึ้นจึงต้องเบียดตัวเองให้อยู่ในมดลูกที่มีเนื้อที่จํากัด ทารกส่วนใหญ่จึงมักจะอยู่ในท่าขัดสมาธิและงอสะโพกให้มากที่สุด
ในช่วงแรกเกิดถึงขวบปีแรก เบบี๋จะมีอาการขาโก่ง ซึ่งอาการนี้ จะค่อยๆ คลายออกตามธรรมชาติและการเจริญเติบโต เมื่อลูกเริ่มใช้เข่าหัดคลานหรือหัดเดิน ก็จะทําให้ข้อสะโพกแข็งแรงขึ้นและกระดูกจะค่อยๆ ปรับตัวเองให้ตรงขึ้น ทําให้อาการขาโก่งหรือเข่าโค้งปรับเข้าสู่ปกติได้เองเมื่อลูกอายุ 18-24 เดือน ดังนั้น ถ้าลูกขาโก่งในช่วงทารกถือว่าเป็นภาวะปกติทางสรีระร่างกายค่ะ


สังเกตขาของเบบี๋..ขาโก่งแบบนี้ปกติไหม?
อาการขาโก่งของเบบี๋ คุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ค่ะ โดยถ้าเป็นอาการขาโก่งปกติมักจะเป็นตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งขาและเข่าจะโก่งหรือโค้งงอเท่าๆ กันทั้งขาซ้ายและขาขวา หากคุณแม่คอยสังเกตไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าขาของลูกจะตรงขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเริ่มโตขึ้นค่ะ
ทั้งนี้ ถ้าเป็นอาการขาโก่งตั้งแต่แรกเกิดในลักษณะนี้ คุณแม่ไม่จําเป็นต้องดัดขาเพื่อให้ขาของลูกตรง เพราะขาของลูก จะตรงเป็นปกติได้ตามวัยอยู่แล้ว

อีกสาเหตุหนึ่งของอาการขาโก่งของเบบี๋ เกิดจากความผิดปกติหรือผิดรูปของกระดูก
โดยคุณแม่สามารถสังเกตขาของลูกได้ ดังนี้
• ขาทั้ง 2 ข้าง มีความโก่งไม่เท่ากัน
• ขาโก่งหรือบิดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ตรงขึ้นตามอายุ
• ขาโก่งมากในบางตําแหน่ง โดยมุมที่โก่งหักเป็นมุมแหลม
• ขาโก่งร่วมกับตัวเตี้ย (ต้องวัดส่วนสูงและเทียบกับเส้นค่าเฉลี่ยตามวัย)
นอกจากนี้ โรคกระดูกบางโรคอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม และถ้าลูกตัวอ้วนมากก็ทําให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคกระดูกงอหรือขาโก่งได้ง่าย ซึ่งคุณแม่ต้องสังเกตสัดส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ลูกประกอบด้วย ดังนั้น หากลูกมีอาการขาโก่งไม่หายตามวัยและคุณแม่ไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูให้แน่ใจ เพื่อจะได้รักษาอาการได้ง่าย เพราะหากพบว่า ลูกมีอาการผิดปกติของกระดูกเมื่อลูกโตแล้ว การรักษาจะยากยิ่งขึ้นเพราะกระดูกของลูกเริ่มแข็งขึ้นแล้วค่ะ


ป้องกันไม่ให้เบบี๋ขาโก่งได้อย่างไร?
หากลูกขาโก่งไปตามพัฒนาการของขา คุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลและปล่อยไปตามธรรมชาติดีที่สุด แต่คุณแม่สามารถ ป้องกันไม่ให้ลูกน้อยขาโก่งมากขึ้นหรือกระดูกขาผิดรูปได้ ดังนี้
• ให้ลูกได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถ รักษาภาวะสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือดและในกระดูก ถ้าขาดวิตามินดีจะทําให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ขาจะโก่งหรือถ่าง เนื่องจากไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ โดยวิตามินดีจะมีอยู่ในอาหาร เช่น นม ตับสัตว์ ไข่แดง เป็นต้น และคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปเดินเล่นนอกบ้านเพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดดยามเช้าบ้าง ก็จะช่วยเสริมสร้างกระดูกของลูกน้อยให้แข็งแรง
• การดัดหรือยืดขาทารกเบาๆ หลังอาบน้ำอาจไม่เกี่ยวกับการโก่งหรือไม่โก่งของขา แต่การดัดหรือยืดขาของลูกเบาๆ จะช่วยให้ลูกได้ยืดเส้นยืดสาย ทั้งนี้คุณแม่อาจใช้วิธีการนวดคลึง เบาๆ บริเวณขาของลูก ก็จะช่วยให้ขาของลูกแข็งแรงและลูกก็จะสบายตัวยิ่งขึ้นค่ะ
• นอกจากการนวดหรือดัดขาของลูกแล้ว คุณแม่ต้องคอยจัดท่านั่งและท่านอนของเบบี๋ให้อยู่ในท่าที่ถูกต้อง เพื่อจะไม่ทําให้ เกิดการโค้งงอหรือการผิดรูปของกระดูก



T i p s : การยืดและนวดขาให้ลูกน้อย คุณแม่สามารถทําได้ง่ายๆ ดังนี้

• นวดขาลูกทีละข้าง โดยจับขายกขึ้นแล้วใช้มืออีกข้างจับรอบขา นวดคลึงเป็นวงกลม เริ่มจากต้นขาค่อยๆไล่ไปปลายเท้า แล้วใช้หัวแม่มือกดฝ่าเท้าลูกเบาๆ จากนั้นใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างคลึงขาลูกไปมาเบาๆ โดยให้สองมือของคุณแม่สวนทางกัน เริ่มจากหัวเข่าไล่ไปจนถึงข้อเท้า คลึงไปมา 5-10 ครั้ง
• คุณแม่อาจใช้มือจับขาของลูกและเหยียดให้ตรง หลังอาบน้ำ หรือถ้าเบบี๋อายุ 2 เดือนขึ้นไปแล้ว คุณแม่สามารถทําท่าถีบจักรยานให้ลูกได้ โดยให้ลูกนอนหงาย คุณแม่นั่งอยู่ตรงปลายเท้าของเบบี๋ แล้วจับที่น่องขาขวาและขาซ้ายข้างละมือ จากนั้นค่อยๆ งอเข่าดันไปที่ท้องหรือหน้าอก แล้วเหยียดออก ทําทีละข้างก่อน 5-10 ครั้ง แล้วจึงทําพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งท่านี้จะช่วยให้ข้อเข่าของเบบี๋แข็งแรง
• หากเบบี๋อยู่ในวัยที่สามารถคลานหรือเริ่มหัดเดินแล้ว คุณแม่สามารถทําท่าแยกขาให้ลูกได้ โดยคุณแม่นั่งด้านหลัง ลูก แล้วจับขาลูกทั้งสองข้างค่อยๆ แยกออกด้านข้าง จากนั้นให้ลูกโน้มตัวไปด้านหน้า โดยที่คุณแม่ยังจับขาไว้ ซึ่งท่านี้จะช่วยให้เด็กได้ยืดตัวมากขึ้นและช่วยดัดขาให้ตรงขึ้นด้วย
• ในขณะที่นวดหรือยืดขาของลูก หากลูกร้องหรือขาแดง แสดงว่าคุณแม่ออกแรงมากเกินไปจนทําให้ลูกเจ็บ ให้หยุดนวดหรือนวดให้เบาลงค่ะ

mother & care

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

6 วิธีดูแลครรภ์ พร้อมเลี้ยงลูกเล็ก


เพิ่งจะคลอดเจ้าตัวเล็กได้ไม่นาน แต่คุณแม่ก็ตั้งครรภ์อีกครั้งแล้ว ไหนจะต้องดูแลลูกคนโต ดูแล ตัวเอง และต้องรับมือกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอีก ลองมาดูเคล็ดลับเพื่อรับมือกับการตั้งครรภ์พร้อมๆ กับการเลี้ยงลูกกันค่ะ



1.รีบฝากครรภ์
ทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์อีกครั้ง ควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อตรวจดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก หรือตั้งครรภ์ใหม่ภายใน 3 เดือนหลังจากคลอดลูก อย่าวางใจว่าการตั้งครรภ์ครั้งที่แล้วปกติดีคราวนี้ก็คงไม่เป็นอะไร หรือซื้อยามากินเอง การฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ คุณหมอจะได้ช่วยดูแลสุขภาพและแนะนำวิธีบำรุงร่างกาย เพราะคุณแม่จะต้องเหนื่อยขึ้นเป็น 2 เท่า กับการเลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับ การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ครั้งนี้อาจเลือกฝากครรภ์กับแพทย์คนเดิม เพราะจะทราบประวัติและสุขภาพของคุณแม่อยู่แล้ว นอกจากนี้ หากต้องเลี้ยงลูกด้วย การเดินทางไกลอาจไม่สะดวกนัก จึงควรเลือกฝากครรภ์กับสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือเดินทางสะดวก ก็จะช่วยประหยัดเวลาและไม่เหนื่อยด้วยค่ะ

2. ให้นมลูกคนโต
หากมีเจ้าตัวเล็กอยู่ในท้องอีกคนตอนที่ลูกคนโตยังเล็กอยู่ ก็ยังสามารถให้ลูกคนโต ดูดนมหรือปั๊มนมได้ แต่ถ้าสังเกตว่าในขณะที่ให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมแล้วรู้สึกว่ามดลูก มีการบีบรัดตัว ก็ควรหยุดให้นมก่อน เพราะการให้ลูกดูดนม (โดยเฉพาะช่วงที่อายุครรภ์มาก แล้ว) จะกระตุ้นให้ฮอร์โมนออกซิโตซินหลั่งมาจากต่อมใต้สมองมากขึ้น ทำให้เกิดการบีบรัดตัว ของมดลูก จึงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ ในช่วงนี้อาจให้ลูกกินนมผสม ทดแทนไปก่อน

ส่วนการอุ้มลุกคนโตนั้นควรอุ้มให้น้อยลง เพราะด้วยอายุครรภ์ของคุณแม่และน้ำหนักของลูกคนโตที่เพิ่มมากขึ้น เวลาอุ้มอาจทำให้มีอาการปวดหลังหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

3. แม่ลูกผูกพัน
ถึงแม้จะไม่สามารถให้นมและอุ้มลูกคนโตได้ แต่ก็สามารถสนุกกับลูกทั้งสองไปพร้อมๆ กันได้ด้วยการเล่น เช่น ร้องเพลงหรืออ่านนิทานให้ลูกฟังพร้อมกัน หรือถ้าลูกคนโตเริ่มพูดได้แล้ว อาจให้ลูกคุยหรือร้องเพลงให้น้องในท้องฟังก็ได้ ก็ทำให้อารมณ์ดี สนุกสนานทั้งแม่และลูก แต่ก็ต้องระวังการเล่นที่รุนแรงหรือกระทบต่อลูกในท้องด้วย เช่น ระวังอย่าให้ลูกคนโตทับท้อง เป็นต้น

4. พักผ่อนอย่างเพียงพอ
คุณแม่ต้องหาผู้ช่วยแล้วล่ะค่ะ เพราะหากต้องเลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับการตั้งครรภ์ แล้วยังต้องทำงานบ้านอีก จะทำให้เหนื่อย อ่อนเพลีย และสุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง รวมถึงจะทำให้เกิดความเครียดและกดดันกับการทำหลายอย่างพร้อมกัน จึงควรหาผู้ช่วยมาช่วยจัดการงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน อาจเป็นคุณพ่อ ญาติสนิทหรือพี่เลี้ยง เพื่อช่วยดูแลลูกและ แบ่งเบางานในบ้าน คุณแม่จะได้มีเวลาสำหรับการพักผ่อน อย่างเพียงพอ

5. อาหารและออกกำลังกายก็จำเป็น
ถึงแม้จะไม่ใช่การตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่เรื่องอาหารและการออกกำลังกายก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะคุณแม่ที่เพิ่งคลอด น้ำหนักยังไม่กลับสู่สภาวะเดิม จึงต้องควบคุมอาหารให้ดี ให้น้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ อย่าให้เพิ่มขึ้นมากและเร็วเกินไป พยายามกินอาหารที่มีประโยชน์ให้มากเพราะต้องใช้พลังงานสำหรับลูกทั้ง 2 คน จึงควรเน้นกินอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ลดอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง ของหวานหรือขนมจุบจิบ

ส่วนการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด ก็คือ การพาลูกไป เดินเล่นหรือว่ายน้ำ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็ให้ลูกนั่งในรถเข็นแล้ว คุณแม่เข็นรถเดิน หรือจูงลูกเดินในที่หัดเดินของเด็ก แต่ถ้า ลูกเริ่มวิ่งเล่นหรือว่ายน้ำเป็นแล้ว อาจพาลูกไปวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะหรือว่ายน้ำก็ได้

6. อารมณ์ดี..สิ่งสำคัญ
อารมณ์ของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ต้องดูแลไม่แพ้สุขภาพกาย เพราะหากหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ก็จะไม่เป็นผลดีต่อเจ้าตัวเล็กและลูกในท้องด้วย จึงต้องดูแลตัวเองให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ อาจทำกิจกรรมที่ชอบ เล่นกับลูก แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส ไปเที่ยวกับสามี พูดคุยกับเพื่อน หรือญาติที่สนิทในเรื่องที่สบายใจ ก็จะช่วยผ่อนคลายอารมณ์และทำให้มี กำลังใจมากขึ้น

เตรียมของใช้จำเป็น..ให้เจ้าตัวน้อย


เด็กเล็กๆมีของใช้กระจุกระจิกอยู่พอสมควร และเป็นของใช้เฉพาะที่ไม่ควรใช้ร่วมกับผู้ใหญ่ ดังนั้น การเตรียมของใช้พื้นฐานที่จำเป็น
คุณแม่ควรเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด จะได้ไม่ฉุกละหุกมากนักเมื่อคลอดลูกน้อยออกมาแล้ว

• อ่างอาบน้ำ ควรเลือกอ่างอาบน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เลือกอ่างที่ทำจากพลาสติกเนื้อหน้า ไม่มีรอยคม
ขนาดกลางๆไม่ใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป

• ผ้าปูที่นอน อาจจะใช้ผ้าอ้อมผืนใหญ่ปูเป็นผ้าปูที่นอนก็ได้

• ผ้าห่ม เลือกที่ไม่มีขนฟูและขนาดพอเหมาะ

• ผ้าอ้อม เด็กต้องใช้ผ้าอ้อมกันทุกคน ถึงแม้ปัจจุบันการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะสะดวกสบาย แต่การใช้ผ้าอ้อมเหมาะกับอากาศประเทศไทย
และประหยัดเงินไปได้มาก ควรใช้ผ้าอ้อมกึ่งสำเร็จรูปเมื่อจำเป็นเช่น ใสช่วงกลางคืน หรือออกไปนอกบ้าน

• เสื้อผ้าเด็ก ไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะเกินไป เพราะเด็กทารกโตเร็ว เลือกซื้อให้เหมาะกับช่วงอากาศช่วงที่เด็กเกิด และเผื่อไซต์ไว้เล็กน้อย

• สำลี แบ่งใส่เป็น 2 กล่อง กล่องหนึ่งสำหรับเช็ดตา เช้ดสะดือ เช็ดหัวนมคุณแม่ ให้ใส่น้ำอุ่นสุกและกล่องที่ใส่ควรเป็นกล่องที่นำไปต้มฆ่าเชื้อได้
และมีฝาปิด ส่วนอีกกล่องสำหรับเช็ดก้นเด็ก ใส่น้ำธรรมดา เป็นกล่องพลาสติกธรรมดาแต่ควรมีฝาปิด

• ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก อาทิ แชมพู สบู่ น้ำยาซักผ้า แป้ง โลชั่น ควรเลือกที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทารกเท่านั้น

• เตียงนอนและฟูก การจัดที่นอนเป็นสัดส่วนให้กับลูกน้อย นับเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับลูกได้ดังนั้นต้องเลือกเตัยงที่ปลอดภัย
เพียงพอสำหรับบ้านที่ไม่สะดวกจะมีเตียงนอน ก็อาจจะซื้อฟูกที่ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป

• กรรไกรตัดเล็บ ซื้อกรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จะช่วยให้คุณแม่จับถนัดมือมากขึ้นค่ะ

• ถังใส่ผ้าอ้อม ผ้าที่เปื้อนแล้วต้องใส่ถังไว้ต่างหากจากผ้าชิ้นอื่นๆของลูก และควรซักทุกวัน

• ผ้ายางกันน้ำ ควรมีไว้สัก 2 ผืน สำหรับปูบนที่นอนป้องกันไม่ให้ลูกเปียก เลือกผ้ายางที่มีด้านไม่ลื่น เพื่อไม่ให้ผ้าลื่นหลุดง่าย

Tips วิธีพับผ้าอ้อมพับแบบสามเหลี่ยม
• พับครึ่งลงมาทบกัน
• ดึงมุมผ้า ด้านใดด้านหนึ่ง แล้วกางมาอีกฝั่ง เป็นรูปสามเหลี่ยม
• พลิกกลับด้าน แล้วพับผ้าเป็น 2 ทบเข้ามาหากึ่งกลางพับแบบรูปว่าว
• พับมุมลงมาให้เป็นรูปสามเหลี่ยม
• พับปลายด้านล่างขึ้นไปหากึ่งกลาง
• พับมุมด้านบนลงมาหากึ่งกลาง

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

สัญญาณเริ่มต้นที่จะเป็น..คุณแม่

หากคุณสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ลองตรวจสอบสัญญาณเริ่มต้นได้ที่นี่ค่ะ


ประจำเดือนขาด
นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ชัดเจนที่สุด หากปกติแล้วประจำเดือนของคุณมักมาตรงเวลาควรลองทดสอบ การตั้งครรภ์ได้แล้ว

แพ้ท้อง สัญญาณบ่งบอกว่าคุณตั้งครรภ์
อาการแพ้ท้อง มักแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่บางท่าน อาจมีอาการคลื่นไส้หรือรู้สึกไม่สบาย โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ได้สัก 2-3 สัปดาห์
แต่บางท่านก็มีอาการเพียงแค่ไม่กี่วันหลังตั้งครรภ์ ถ้าโชคดี คุณอาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้ และการแพ้ท้องอาจเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้

ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเช้าเสมอไป

ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ถ้าคุณสังเกตเห็นว่าตัวเองเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณที่น่ายินดีว่าคุณกำลังเริ่มตั้งครรภ์แล้ว ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

ในช่วง 3เดือนแรกจะทำให้คุณปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

รู้สึกเหนื่อยง่ายหรือเปล่า
สัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ที่พบเห็นได้บ่อยอีกประการหนึ่งก็คือความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหมดเรี่ยวแรง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการเพิ่มขึ้น

ของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายดังนั้นหากคุณรู้สึกเหนื่อยง่ายโดยไม่มีสาเหตุลองตรวจสอบดูว่าเป็นเพราะคุณกำลังตั้งครรภ์หรือเปล่า

รสชาติแปลกๆ ในปาก
คุณแม่บางท่านเล่าว่าครั้งแรกที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกขมเฝื่อนหรือมีรสชาติแปลกๆในปากขณะที่คุณแม่อีกหลายท่านก็รู้สึกเหม็นหรือทนไม่ได้

กับอาหารหรือเครื่องดื่มที่เคยทานอยู่ทุกวันเช่นชาหรือกาแฟ

การเปลี่ยนแปลงของเต้านม
ผิวหนังบริเวณรอบเต้านมหรือที่เรียกว่าลานนมจะมีสีคล้ำขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น

มีเลือดออกโดยไม่คาดคิดหรือเป็นตะคริว
ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะเดินทางจากท่อนำไข่เพื่อไปฝังตัวที่ผนังมดลูกและรอการเติบโต กระบวนการนี้เรียกว่า การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว

และมักจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียง เช่น การเป็นตะคริว และมีเลือดออกกะปริดกะปรอย โดยเลือดอาจมีสีแดงสด

สีชมพู หรือสีน้ำตาล

ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยการทดสอบการตั้งครรภ์
แน่นอนว่าหนทางเดียวที่จะแน่ใจว่าคุณตั้งครรภ์แล้วก็คือการทดสอบการตั้งครรภ์โดยผลทดสอบนับจากวันแรกที่ประจำเดือนขาดไป

หากเป็นผลบวกก็มั่นใจได้ว่าตั้งครรภ์แน่นอน