วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เคล็ดลับ..เสริมพัฒนาการให้เจ้าตัวน้อย

เมื่อผ่านพ้นจากวัยแห่งการคืบคลานมาแล้ว ต่อจากนี้ไปซิ…
เริ่มเป็นไคล์แมกซ์ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตื่นเต้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะเจ้าหนูวัย 9 -12 เดือน จะซุกซน เคลื่อนไหวและเล่นได้อย่างอิสระมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็นวัย “นักเกาะมืออาชีพ” ซึ่งเป็นวัยแรกเริ่มของการเดินเตาะแตะในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาจะรู้ว่าโตขึ้นแล้ว เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และรู้จักการปฏิเสธมากขึ้น ดังนั้นบทบาทของคุณพ่อคุณแม่ต่อการเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ จึงมีส่วนสำคัญเป็นอันมากค่ะ

หม่ำ หม่ำ ในช่วงวัยนี้ยังคงหม่ำนมเป็นอาหารหลัก และให้อาหารเสริมตามวัย 2 มื้อแต่อาจจะเน้นมากขึ้นตามวัยที่โตขึ้นก็ได้ค่ะ ซึ่งต่อไปนี้เป็นโปรแกรมอาหารของเด็กที่ควรรู้

นม ส่วนมากเด็กผู้ชายมักจะหม่ำเก่งมากกว่าเด็กผู้หญิงค่ะ สำหรับเด็กที่หม่ำนมวัวผสม ควรเป็นนมที่เหมาะสมสำหรับอายุ แต่ไม่ควรให้ในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยทั่วๆ ไป ถึงแม้เด็กจะโตแล้วก็ไม่ควรให้หม่ำเกินวันละ 1 ลิตร (1,000 ซี.ซี.) เพราะจะทำให้เป็นโรคอ้วนได้

โปรตีน ที่มีอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อแดงไม่ติดมัน ไข่ นม ถั่วฝักอ่อน และโดยเฉพาะในเนื้อปลาทะเลลึกอย่าง ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า จะดีเป็นพิเศษ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยในการซ่อมแซมเซลล์เนื้อเยื่อที่สึกหรอ และการเจริญเติบโตของสมอง

ผลไม้ วิตามินต่างๆ มีบทบาทสำคัญในกระบวนการดูดซึมและให้พลังงานแก่สมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ ผลไม้ตระกูลส้มมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูง ซึ่งช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้นกันในร่างกายด้วยค่ะ ควรเน้นผลไม้ เช่น ส้ม มะม่วง องุ่น พีช แตงโม ฯลฯ

ผัก ในแต่ละวันควรให้ทานผักมากๆ ค่ะ เพราะอุดมด้วยสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ มีอยู่ผักสีต่างๆ เช่น ฟักทอง รวมถึงผักบุ้ง ช่วยให้ประสาทตากับสมองทำงานเชื่อมโยงกัน วิตามินบี มีอยู่ในธัญพืช ผักสีเขียว ฯลฯ ช่วยให้ความคิดอ่านโลดแล่น

ตั้งไข่ล้ม

ส่วนใหญ่เด็กมักจะตั้งไข่เมื่ออายุ 9 - 12 เดือน คุณแม่คงจะพอมีเวลาค่อยๆ หัดไป พยายามหาของเล่นมาชูหลอกล่อให้เขายืนอย่างมั่นคง หรือเรียกชื่อเขาให้หันมาหา ให้ฟังเพลงและดนตรีที่สนุกสนาน แต่อย่าเคี่ยวเข็ญว่า ต้องทำได้ทันทีทันใดนะคะ อาจทำให้ลูกรู้สึกกลัว ต้องค่อยๆ สร้างความมั่นใจให้ลูกกล้ายืน ไม่กลัวล้ม ไม่กลัวเจ็บ รวมทั้งไม่ควรโอ๋หรืออุ้มมากเกินไปจนลูกไม่เคยลองทำ เพราะอาจทำให้กลัวและมีพัฒนาการด้านนี้ช้าได้

ภาษาที่สนุกสนาน
ควรทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นเคย และสามารถสื่อสารได้เร็วขึ้น

ท่าทางประกอบ
เพื่อสอนภาษาไปพร้อมกัน เช่น ต้องการจะสอนให้ลูกบอกเวลาที่หิวข้าว ขณะที่คุณแม่เอามือไปที่ปาก ก็ให้พูดด้วยว่า “กินข้าว” หรือ “หิวข้าว” เป็นต้น

ประสบการณ์หลากหลาย ควรให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เขาได้คำศัพท์ใหม่ๆ เช่น ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เดินในสนามเด็กเล่น หรือเที่ยวสวนสัตว์ พยายามพูดกับเด็กในแบบง่ายๆ ให้รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ หรือถ้าเคยไปเที่ยวสวนสัตว์ อาจจะเอารูปสัตว์ที่ลูกเจอมาถาม เช่น ถามว่า พี่ไก่สีอะไร และร้องยังไง ฯลฯ

การร้องเพลง หรือคำกลอนง่ายๆ
โดยธรรมชาติเด็กทุกคนจะชอบดนตรีอยู่แล้ว คำกลอนที่มีสัมผัสน่าฟัง เช่น การสอนลูก “จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้าคว้าปูทะเล” "จันทร์เจ้าเอย ขอข้าวขอแกง” เพลงเด็กๆ อีกหลายเพลงก็ช่วยทำให้การเรียนรู้เรื่องภาษาเร็วขึ้น

สมองลูกด้านบวก เพียเจต์ (Piaget) ผู้สร้างทฤษฎีพัฒนาการเชาว์ปัญญา กล่าวไว้ว่า " การเล่นเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางด้านสติปัญญาของเด็ก เด็กจะเริ่มรู้จักการเล่นเมื่ออยู่ในขั้นเรียนรู้จากการสัมผัส (Sensory Motor Period) ” คุณแม่อาจเล่นสมมติ โดยให้ตุ๊กตาพูดคุยโต้ตอบกับลูก นอกจากเป็นการพัฒนาเชาว์ปัญญาแล้ว ยังส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้ดี หรือของเล่นประเภทลากจูง ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อต่างๆได้อย่างดีเช่นกันค่ะ

“อย่า” นะลูก น้องหนูวัยกำลังหัดเกาะเดิน เรื่องอุบัติภัยใกล้ตัวก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นห่วงค่ะ นักวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า สมองเกี่ยวกับการเชื่อมโยงคำพูดกับการกระทำของลูกจะสมบูรณ์เมื่อลูกอายุ 7 - 8 เดือน จึงเป็นช่วงเหมาะสมที่จะสอนลูกแบบเป็นเรื่องเป็นราวได้แล้ว เพราะสมองสามารถประติดประต่อ ระหว่างสิ่งที่ทำกับคำพูดของคุณแม่ได้แล้วค่ะ นอกจากจัดพื้นที่เล่นของลูกให้ปลอดภัยแล้ว การสอนของคุณแม่ก็สำคัญค่ะ อย่างเวลาจะห้ามลูกเล่นอะไรที่ได้รับอันตราย เช่น เอานิ้วมือแหย่พัดลม ดึงปลั๊กไฟ หรือกำลังจับของร้อน ควรใช้คำพูดว่า “อย่า” ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและจริงจัง ในการสอนครั้งแรก เขาอาจไม่เชื่อฟัง ก็ให้คุณแม่อุ้มเขาออกมาจากที่ตรงนั้น ย้ำอีกครั้งว่า “อย่า นะลูก”แค่นี้...ลูกรักก็มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และเจริญเติบโตได้สมวัยแล้วค่ะ

เมนูเด็ก ๆ กับ ข้าวต้มพระจันทร์


ข้าวต้มเป็นอาหารแสนอร่อยที่ทำง่าย ยิ่งวันนี้เมนูลูกรักนำเสนอเมนูข้าวต้มที่หน้าตาน่าทานมาก เด็ก ๆ ชอบแน่ ๆ ครับ เมนูอาหารสำหรับเด็กวันนี้เสนอ “ข้าวต้มพระจันทร์” เป็นยังไงมาดูกันค่ะ


เครื่องปรุง :

1) ข้าวสวย

2) ฟักทองนึ่งบดละเอียด

3) เนื้อไก่สับ

4) ใบผักโขม หรือปวยเล้งสับหยาบ

5) น้ำซุปโครงไก่


วิธีทำอาหาร :

1) นำฟักทอง ข้าวสวยและเนื้อไก่สับ ต้มรวมกันในน้ำซุปจนสุกนิ่ม

2) ก่อนจะหรี่ไฟ ให้ใส่ผักปวยเล้งลงไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะได้ข้าวต้มสีเหลือง เสริฟอุ่นๆ ให้เจ้าตัวเล็ก

เคล็ดไม่ลับ : ฤดูหนาวคือช่วงเวลาทองของคนรักผักเมืองหนาว โดยเฉพาะ “ปวยเล้ง” ซึ่งแปลตรงตัวตามภาษาจีนว่า “มังกรบิน” กินแล้วแข็งแรงมีพลกำลังเหมือนมังกร เพราะปวยเล้งอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน

โภชนาการ..อาหารสำหรับคุณแม่


อาหารที่คุณแม่ควรรับประทาน
ระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหารทั้งหมดที่ต้องการในการเจริญเติบโตจากคุณแม่ ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงในช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นนี้

คุณแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการได้รับสารอาหารครบทั้งห้าหมู่

เคล็ดลับน่ารู้สำหรับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

-เลือกอาหารที่หลากหลายจากอาหารในแต่ละหมู่เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ได้รับอาหารครบทั้งห้าหมู่
-หากคุณแม่รู้สึกกังวลว่า ไม่ได้รับประทานอาหารครบหมู่ ขอแนะนำให้สอบถามสูติแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์เกี่ยวกับ อาหารเสริม
-ทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 - 3 ครั้งต่อวัน
-พยายามทานผลไม้และผัก ซีเรียลธัญพืช และถั่วชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ในร่างกาย
-ดื่มน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
-ดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น นมพร่องไขมัน น้ำผลไม้สด และซุป
-ในแต่ละสัปดาห์ ควรรับประทานปลาที่มีไขมันหนึ่งส่วน และปลาไร้ไขมันหนึ่งส่วน (แต่ให้หลีกเลี่ยงปลาฉลาม ปลาดาบเงิน และปลากระโทงแทง)
-ใช้น้ำมันพืชในการทำอาหาร เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก และน้ำมันดอกทานตะวัน โดยใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป
-จำกัดการรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธี หรืออาหารหมักดอง ซึ่งมักจะมีเกลืออยู่ในปริมาณมาก
-ลดปริมาณคาเฟอีนที่คุณรับประทานลงให้น้อยกว่า 4 แก้วต่อวัน
-จำกัดการทานของหวาน ของขบเคี้ยว เค้ก คุกกี้ ไขมัน น้ำมัน และน้ำตาล อาหารเหล่านี้ให้แคลอรี่
แต่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางอาหารที่คุณแม่และลูกน้อยต้องการ การทานตามใจปากในช่วงนี้ จะทำให้คุณแม่กลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมได้ยาก ดังนั้น พยายามหักห้ามใจ ไม่ทานของหวานพวกนั้นบ่อยเกินไป


วิตามินและสารอาหารที่คุณแม่ต้องการระหว่างการตั้งครรภ์

กรดโฟลิค
กรดโฟลิคช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ที่เรียกว่า Spina Bifida ช่วงเวลาที่เหมาะจะรับประทานคือช่วง 2-3 เดือนก่อนคลอด และระหว่างระยะที่ 1 ของการตั้งครรภ์ (12 สัปดาห์แรก) ในช่วงเวลาดังกล่าว จำเป็นมากที่คุณแม่จะต้องรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และครบห้าหมู่ พร้อมทั้งรับประทานกรดโฟลิค พร้อมทั้งคุณแม่สามารถเลือกอาหารที่มีกรดโฟลิคสูงมารับประทาน เช่น ผักที่มีสีเขียวอย่างบล็อคโคลี่ กระหล่ำปลี ฝักถั่วและเมล็ดถั่ว และผลไม้ เช่น ส้ม

ธาตุเหล็กและวิตามินซี
ธาตุเหล็กเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่คุณแม่ต้องการตลอดเวลาในช่วงการตั้งครรภ์ เพราะเป็นสารสำคัญในการช่วยให้ออกซิเจนไหลเวียนไปกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกน้อยในครรภ์ใช้ในการพัฒนาสมอง หากขาดธาตุเหล็ก ลูกในครรภ์อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ตัวคุณแม่เองจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคโลหิตจางซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย และไม่สบายตัว สูติแพทย์ของคุณแม่อาจแนะนำให้ทานธาตุเหล็กเป็นอาหารเสริม หรือไม่คุณแม่ก็ต้องแน่ใจว่าได้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเพียงพอ เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผลไม้แห้ง ซีเรียลธัญพืชและขนมปังธัญพืช และผักใบเขียว ธาตุเหล็กจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี หากคุณแม่รับประทานผักหรือผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงไปพร้อมกัน ดังนั้น ให้ดื่มน้ำผลไม้ไปพร้อมกับการทานซีเรียล หรือทานผลไม้สดขณะที่กำลังเริ่มทานอาหารมื้อหลักเพื่อช่วยในการดูดซึมให้ดีขึ้น

ไขมันโอเมก้า การได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นสารที่ช่วยให้ระบบประสาทของลูกน้อยพัฒนาได้ดี ทั้งยังช่วยป้องกันโรคหัวใจให้กับคุณแม่ได้ นอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่าการได้รับไขมันโอเมก้าระหว่างการตั้งครรภ์จะทำให้ลูกน้อยฉลาดขึ้นอีกด้วย
ปลาที่มีไขมัน อย่างเช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน ต่างก็มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่สูง แต่คุณแม่ก็ไม่ควรรับประทานมากกว่า 2 ส่วนต่อสัปดาห์ เพราะปลาเหล่านั้นมีสารปรอทอยู่ด้วย หากได้รับในปริมาณสูง อาจจะทำให้เกิดอันตรายกับลูกในท้องได้ ซึ่งคุณแม่อาจเลือกที่จะรับกรดไขมันโอเมก้า 3 จากแหล่งอื่น ได้ในเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดนุ่น หรือถั่วเหลือง ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน หรือคุณแม่จะเลือกทานอาหารเสริมแทนก็ได้

วิตามินเสริมก่อนคลอด คุณแม่สามารถเลือกทานวิตามินรวมที่ผลิตสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงใกล้คลอดโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่ครบทั้งห้าหมู่เหมาะสำหรับการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยได้รวมเอากรดโฟลิค และธาตุเหล็กไว้แล้วด้วย แต่ต้องดูให้แน่ใจด้วยว่า คุณแม่ได้เลือกเอาวิตามินรวมที่ทำขึ้นสำหรับคนใกล้คลอดหรือคนท้องเท่านั้น ไม่ใช่วิตามินรวมธรรมดาทั่วไป ซึ่งจะมีวิตามินที่ควรหลีกเลี่ยงอยู่ในปริมาณสูง



วิตามินเอ อาหาร อย่างเช่น ตับบดและไส้กรอกตับ เป็นแหล่งของธาตุเหล็กที่ดี แต่ก็มีวิตามินเออยู่ในปริมาณสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หากรับประทานมากเกินไป คุณแม่ควรทราบไว้อีกด้วยว่า วิตามินเสริมบางตัวก็มีวิตามินเอในปริมาณสูง ดังนั้น ต้องเลือกทานอาหารเสริมที่ปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์เท่านั้น สูติแพทย์สามารถช่วยแนะนำได้ในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม มีอีกรูปแบบหนึ่งของวิตามินเอซึ่งดีต่อหญิงตั้งครรภ์ นั่นก็คือแคโรทีน ซึ่งมีมากในพริกหยวกสีแดง เหลืองและส้ม ผลไม้เช่น มะม่วง แครอท มันฝรั่งหวาน แอพพริคอท มะเขือเทศ และผักวอเทอร์เครส



อาหารและเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยง
การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอาหาร ที่ควรหลีกเลี่ยงและอาหารที่ควรรับประทาน อาหารบางชนิดอาจทำอันตรายต่อลูกน้อยและทำให้คุณแม่ป่วย ดังนั้น ความปลอดภัยของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้โดยเด็ดขาด

-ไข่ดิบหรือไข่ที่ปรุงไม่สุกหรืออาหารที่ทำจากไข่เหล่านั้น โดยไข่ที่ทานได้ ควรผ่านการปรุงให้สุก ไม่ควรอยู่ในสภาพที่เป็นของเหลว
-เนื้อหรือปลาที่ปรุงไม่สุก หรือเกือบดิบ โดยเนื้อที่ทานได้ต้องไม่มีสีชมพูเหลืออยู่
-ปลาหรือเนื้อที่เสิร์ฟดิบๆ เช่น ซูชิ สเต็กบางชนิด ปลาแซลมอนรมควัน หอยนางรม
-นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อและ เนยแข็ง
-ตับบดหรืออาหารประเภทตับ โดยอาหารพวกนี้จะมีวิตามินเออยู่สูงมาก ซึ่งอาจทำอันตรายต่อลูกน้อย ของคุณ
-อาหารที่ผ่านการปรุงบางชนิด เช่น สลัดมันฝรั่ง หรือโคสลอว์ บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Listeria อยู่เป็นจำนวนมาก
-ก่อนจะรับประทาน ตรวจดูให้แน่ใจว่าอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่อุ่นซ้ำนั้นผ่านความร้อนทั่วถึงดีแล้วหรือยัง
-ระมัดระวังการทานบาร์บีคิว เพราะเนื้อมักจะถูกวางทิ้งไว้ ก่อนจะนำมารับประทาน
-ปลาดาบเงิน ปลากระโทงแทง และปลาฉลาม ปลาเหล่านี้มีสารปรอทตามธรรมชาติอยู่ในระดับที่อาจไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจทำอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกน้อยในครรภ์ ปลาทูน่าก็มีสารปรอทเช่นกัน คุณแม่จึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานอยู่ที่กระป๋องขนาดกลาง (น้ำหนักไม่รวมน้ำ 140 กรัมต่อกระป๋อง) หรือเนื้อปลา 2 ก้อน (สูงสุด 170 กรัม ต่อก้อน) ต่อสัปดาห์
-ควรหลีกเลี่ยงการทานถั่วลิสงระหว่างตั้งครรภ์และการให้นม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น โรคหอบหืด โรคเรื้อนกวางหรือโรคแพ้ละอองเกสร
-แอลกอฮอล์ การได้รับปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหามากมายกับลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะลูกอ่อนที่อายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ และแม้จะบริโภคแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย ก็ยังอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์ได้