วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กิจกรรมวันพ่อ...ฟรี!! ที่พิพิธภัณฑ์เด็ก









.. วันพ่อปีนี้ พ่อเข้าฟรี
ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร มากระชับความอบอุ่นระหว่างพ่อ-ลูก ผ่านกิจกรรมแสนสนุกมากมาย อาทิ...

ชวนลูกบอกรักคุณพ่อผ่านกล้องโทรทัศน์ บันทึกลง DVD มอบเป็นของขวัญแทนใจ กับกิจกรรม "สื่อรักวันพ่อ"

สานสัมพันธ์ในครอบครัวกับกิจกรรม "พ่อลูกรวมใจช่วยกันเล่า" ที่ห้องสมุดพ่อสอนให้อ่าน แบ่งปันเรื่องเล่าดีๆ ผ่านละครหุ่นมือแสนสนุก

"การ์ดแทนใจ" ร่วมประดิษฐ์การ์ดหนึ่งเดียวจากใจให้พ่อ กิจกรรมบนเวที ชิงของรางวัลมากมาย

พาเหรดเจ้าหญิง เจ้าชายที่อาคารดิสนีย์ เลิร์นนิ่ง ทาวน์

นอกจากนี้ยังมี Walk Rally โลกร้อน ในอาคารจักรวาล กิจกรรมที่ส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัว เพียงตอบคำถาม Walk Rally ให้ถูกทุกข้อ รับ Family Green Card มูลค่า 490 บาท หรือ Kiddy Green Card มูลค่า 180 บาท ฟรีทันที ด่วน มีจำนวนจำกัด สอบถามรายละเอียดที่
โทร. 02 615 7333 หรือ www.bkkcdm.com

4 วิธี..รักวัวให้ผูก รักลูกให้ทำโทษ

...วัยเด็กเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ พ่อแม่จึงมีหน้าที่คอยดูแลเอาใจใส่และให้บทเรียนแก่ลูกเมื่อลูกทำผิดพ่อแม่หลายๆ คนมักมีความกังวลว่าควรจะอบรมสั่งสอนอย่างไร เพื่อไม่ให้ดูรุนแรงหรือหละหลวมเกินไป เรามีข้อแนะนำดีๆ ในการอบรมลูกน้อยเมื่อเขาทำผิดมาฝากกันค่ะ

1. Time out เมื่อลูกทำผิดให้พาไปในที่เงียบๆ ไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจ เพื่อให้เขาได้ทบทวนการกระทำของตัวเอง โดยระยะเวลาอาจขึ้นอยู่กับอายุของลูก เช่น 1 นาทีต่อ 1 ขวบ หรือจนกว่าลูกจะสงบสติอารมณ์ลงได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองได้ดีและยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น

2. สอนและตักเตือนด้วยวาจา
ไม่ใช้การบ่นหรือการดุด่า แต่เป็นการบอกให้ลูกทราบถึงเหตุและผลว่าสิ่งที่ทำไม่ถูกต้องอย่างไร และแนะนำสิ่งที่ถูกที่ลูกควรทำควรเป็นอย่างไร อาจใช้น้ำเสียงที่เรียบๆ แต่หนักแน่นจริงจัง เพื่อให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมนั้นไม่เหมาะสม สมควรได้รับการแก้ไข และที่พ่อแม่เตือนก็เพราะไม่อยากเห็นลูกทำผิดไม่ใช่เพราะโกรธหรือไม่รัก

3. ส่งสัญญาณเตือนก่อน
หากลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พ่อและต้องต้องส่งสัญญาณเตือนให้ลูกหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องมีการจัดการกับพฤติกรรมของเขาโดย การเตือน อาจใช้น้ำเสียงที่เข้มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกรับรู้ถึงสัญญาณอันตรายที่ซ่อนอยู่ ทำให้ลูกมีโอกาสแก้ตัวหรือเตรียมตัวเตรียมใจหากต้องถูกลงโทษ

4. ทำโทษด้วยการตี
วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้าย หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากวิธีนี้ หากมีเหตุผลไม่เพียงพอหรือทำไปด้วยอารมณ์โกรธ ผลที่ได้จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้น การตีลูกจะต้องคำนึงถึงหลักดังนี้

อย่าตีพร่ำเพรื่อ การตีลูกไม่จำเป็นต้องตีบ่อยๆ เพราะเด็กที่โดนตีบ่อย มีแนวโน้มที่จะเกเรและต่อต้านมากยิ่งขึ้น ดังนั้น พฤติกรรมบางอย่างที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องลงไม้ลงมือ เช่น การร้องไห้โวยวายการปัสสาวะรดที่นอน ใช้การตักเตือนก็เพียงพอ

การตีแรงๆ หรือการตีโดยใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง จะทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้พ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องระมัดระวังอย่าใช้กำลังกับลูกมากเกินไป และควรจะตีเมื่อลูกทำผิดเรื่องเดิมเป็นครั้งที่สอง ทั้งๆ ที่พ่อแม่ได้ตักเตือนไปแล้ว จึงจะเป็นการตีที่สมเหตุสมผล

การใช้ไม้เรียว เข็มขัด หรือไม้แขวนเสื้อตีลูก จะเป็นการทำให้ลูกบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ ลูกจะรู้สึกหวาดกลัวและตื่นตระหนก สิ่งที่ตามมาคือลูกจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความผิด แต่คิดว่าพ่อแม่ใช้กำลังกับเขา

อย่าตีลูกต่อหน้าคนอื่น การตีลูกต่อหน้าคนอื่นจะทำให้ลูกอับอายและเสียหน้า วิธีจัดการเมื่อลูกทำตัวไม่น่ารักขณะมีผู้อื่นอยู่ด้วย ให้พ่อแม่ใช้วิธีเตือนด้วยเสียงเข้มๆ ก่อน หากเขาไม่หยุดก็ให้พาลูกแยกออกไปสักพักแล้วค่อยลงโทษ

การที่พ่อแม่จะอบรมสั่งสอนลูก สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การระงับสติอารมณ์และใช้เหตุผลให้มาก และพ่อแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ได้เห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กจะซึมซับพฤติกรรมของคนรอบข้างได้เร็ว และเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี พ่อแม่ก็ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจเพื่อให้ลูกมีกำลังใจที่จะทำดีต่อไปค่ะ

เสียงดี ๆ ที่ลูกน้อยอยากฟัง


ลูกมีต้นทุน ทักษะการฟังหรือได้ยินมาตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่ สิ่งสําคัญคือ เสียงที่ลูกรับรู้ช่วยเชื่อมโยงข้อมูล ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมากมาย และเพื่อให้หายข้องใจเรื่องเสียง เรามาอ่านข้อมูลต่อไปนี้กันค่ะ

เสียงเพลง เสียงแม่ที่ร้องเพลงกล่อมลูก แม้เป็นเสียงที่คุ้นเคยมาก่อนแล้ว ถึงตอนนี้ก็ยังชอบฟังมากที่สุดโดยเฉพาะเสียงเพลง ที่มีเนื้อร้อง คําคล้องจอง อย่างเพลงกล่อมเด็ก ก็ช่วยปูพื้นฐาน เรื่องภาษาให้กับลูก และหากสังเกตคุณแม่จะพบว่า
• เสียงเพลงที่มีจังหวะตื่นเต้น สนุกสนาน ลูกจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแขนขา • เสียงเพลงที่มีจังหวะเบาๆ ช้าๆ ลูกจะอยู่สงบนิ่ง อารมณ์ดี รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย

นอกจากเสียงเพลงแล้ว เครื่องเล่นที่มีเสียง ก็ช่วยกระตุ้น ทักษะการฟัง ทําให้เกิดการเรียนรู้ที่จะใช้สายตาประสานกับกล้ามเนื้อมัดเล็ก อย่างนิ้วมือเพื่อกดหรือเคาะเป็นจังหวะ

เสียงดนตรี คือเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรี ประกอบกันเป็นทํานองเพลง เสียงดนตรีสําหรับเด็กเล็ก แนะนําว่าควรเป็นเสียงที่มีจังหวะ ท่วงทํานองเบาๆ ช้าๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความรู้สึก เสียงดนตรีที่รู้จักในวงกว้างแวดวงพ่อแม่ ก็คือดนตรีคลาสสิก

ในงานวิจัยพบว่า คลื่นเสียงดนตรีคลาสสิก ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่มีระเบียบ เมื่อเข้าไปกระตุ้นอวัยวะการรับเสียง ต่อเนื่องไปยังสมองส่วนการรับรู้ เกิดการรับ-ส่งและเชื่อมโยงส่งถึงสมอง เซลล์สมองจะเกิดการแตกตัวมากขึ้น สมองจึงเปิดรับสิ่งต่างๆ เรียนรู้ได้ดีเพราะมีสมาธิจากการฟัง หรือหากไม่เกี่ยง เสียงดนตรีไทยที่มีมานานในบ้านเรา ก็มีจังหวะ ท่วงทํานองสบายๆ ฟังได้ง่าย เลือกเปิดให้ลูกฟังได้เช่นกันค่ะ

เสียงต้องห้าม คือเสียงที่มีระดับความดังเกิน 70-80 เดซิเบล ร่วมกับการได้ยินบ่อยครั้ง เช่น เสียงเครื่องจักรในโรงงาน ถือเป็นเสียงต้องห้ามควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจส่งผลทําให้ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง หรือเสียงบางประเภท เช่น เสียงแตรรถยนต์ เสียงดนตรีที่มีจังหวะรุนแรง จังหวะไม่แน่นอน ออกแนวอึกทึก สับสนวุ่นวาย จัดเป็นเสียงที่ไม่พึงประสงค์ที่ทําให้เด็กอาจไม่ชอบ ที่สําคัญ ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ กลายเป็นเด็กหงุดหงิด งอแงได้ง่าย มีทัศนคติกับเสียงนั้นๆ

DO...

• ร้องเพลงหรือพูดคุยกับลูกอยู่บ่อยๆ สอนให้รู้ด้วยว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร

• ฝึกทักษะการฟังเสียงผ่านการเล่น เช่น การเคาะ ตี ของมีเสียงเป็นจังหวะ เช่น โมบาย กระดิ่ง มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง

• เสียงจากธรรมชาติ ก็ช่วยให้ลูกเรียนรู้ เพิ่มประสบการณ์ การฟังที่หลากหลาย เช่น เสียงน้ำไหล เสียงลม

เสียงมีอิทธิพลส่งต่อถึงอารมณ์และจิตใจ โดยเฉพาะเสียงของพ่อแม่ ที่ทําให้ลูกอบอุ่นและปลอดภัย ที่สําคัญ เป็นจุดเริ่มต้นต่อยอดไปถึงพัฒนาการทางภาษา และการพูดในอนาคต ถ้าการฟังของลูกดี การสื่อสาร ใช้ภาษาก็ย่อมดีไปด้วย

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เคล็ดลับ..เสริมพัฒนาการให้เจ้าตัวน้อย

เมื่อผ่านพ้นจากวัยแห่งการคืบคลานมาแล้ว ต่อจากนี้ไปซิ…
เริ่มเป็นไคล์แมกซ์ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตื่นเต้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะเจ้าหนูวัย 9 -12 เดือน จะซุกซน เคลื่อนไหวและเล่นได้อย่างอิสระมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็นวัย “นักเกาะมืออาชีพ” ซึ่งเป็นวัยแรกเริ่มของการเดินเตาะแตะในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาจะรู้ว่าโตขึ้นแล้ว เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และรู้จักการปฏิเสธมากขึ้น ดังนั้นบทบาทของคุณพ่อคุณแม่ต่อการเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ จึงมีส่วนสำคัญเป็นอันมากค่ะ

หม่ำ หม่ำ ในช่วงวัยนี้ยังคงหม่ำนมเป็นอาหารหลัก และให้อาหารเสริมตามวัย 2 มื้อแต่อาจจะเน้นมากขึ้นตามวัยที่โตขึ้นก็ได้ค่ะ ซึ่งต่อไปนี้เป็นโปรแกรมอาหารของเด็กที่ควรรู้

นม ส่วนมากเด็กผู้ชายมักจะหม่ำเก่งมากกว่าเด็กผู้หญิงค่ะ สำหรับเด็กที่หม่ำนมวัวผสม ควรเป็นนมที่เหมาะสมสำหรับอายุ แต่ไม่ควรให้ในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยทั่วๆ ไป ถึงแม้เด็กจะโตแล้วก็ไม่ควรให้หม่ำเกินวันละ 1 ลิตร (1,000 ซี.ซี.) เพราะจะทำให้เป็นโรคอ้วนได้

โปรตีน ที่มีอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อแดงไม่ติดมัน ไข่ นม ถั่วฝักอ่อน และโดยเฉพาะในเนื้อปลาทะเลลึกอย่าง ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า จะดีเป็นพิเศษ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยในการซ่อมแซมเซลล์เนื้อเยื่อที่สึกหรอ และการเจริญเติบโตของสมอง

ผลไม้ วิตามินต่างๆ มีบทบาทสำคัญในกระบวนการดูดซึมและให้พลังงานแก่สมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ ผลไม้ตระกูลส้มมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูง ซึ่งช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้นกันในร่างกายด้วยค่ะ ควรเน้นผลไม้ เช่น ส้ม มะม่วง องุ่น พีช แตงโม ฯลฯ

ผัก ในแต่ละวันควรให้ทานผักมากๆ ค่ะ เพราะอุดมด้วยสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ มีอยู่ผักสีต่างๆ เช่น ฟักทอง รวมถึงผักบุ้ง ช่วยให้ประสาทตากับสมองทำงานเชื่อมโยงกัน วิตามินบี มีอยู่ในธัญพืช ผักสีเขียว ฯลฯ ช่วยให้ความคิดอ่านโลดแล่น

ตั้งไข่ล้ม

ส่วนใหญ่เด็กมักจะตั้งไข่เมื่ออายุ 9 - 12 เดือน คุณแม่คงจะพอมีเวลาค่อยๆ หัดไป พยายามหาของเล่นมาชูหลอกล่อให้เขายืนอย่างมั่นคง หรือเรียกชื่อเขาให้หันมาหา ให้ฟังเพลงและดนตรีที่สนุกสนาน แต่อย่าเคี่ยวเข็ญว่า ต้องทำได้ทันทีทันใดนะคะ อาจทำให้ลูกรู้สึกกลัว ต้องค่อยๆ สร้างความมั่นใจให้ลูกกล้ายืน ไม่กลัวล้ม ไม่กลัวเจ็บ รวมทั้งไม่ควรโอ๋หรืออุ้มมากเกินไปจนลูกไม่เคยลองทำ เพราะอาจทำให้กลัวและมีพัฒนาการด้านนี้ช้าได้

ภาษาที่สนุกสนาน
ควรทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นเคย และสามารถสื่อสารได้เร็วขึ้น

ท่าทางประกอบ
เพื่อสอนภาษาไปพร้อมกัน เช่น ต้องการจะสอนให้ลูกบอกเวลาที่หิวข้าว ขณะที่คุณแม่เอามือไปที่ปาก ก็ให้พูดด้วยว่า “กินข้าว” หรือ “หิวข้าว” เป็นต้น

ประสบการณ์หลากหลาย ควรให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เขาได้คำศัพท์ใหม่ๆ เช่น ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เดินในสนามเด็กเล่น หรือเที่ยวสวนสัตว์ พยายามพูดกับเด็กในแบบง่ายๆ ให้รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ หรือถ้าเคยไปเที่ยวสวนสัตว์ อาจจะเอารูปสัตว์ที่ลูกเจอมาถาม เช่น ถามว่า พี่ไก่สีอะไร และร้องยังไง ฯลฯ

การร้องเพลง หรือคำกลอนง่ายๆ
โดยธรรมชาติเด็กทุกคนจะชอบดนตรีอยู่แล้ว คำกลอนที่มีสัมผัสน่าฟัง เช่น การสอนลูก “จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้าคว้าปูทะเล” "จันทร์เจ้าเอย ขอข้าวขอแกง” เพลงเด็กๆ อีกหลายเพลงก็ช่วยทำให้การเรียนรู้เรื่องภาษาเร็วขึ้น

สมองลูกด้านบวก เพียเจต์ (Piaget) ผู้สร้างทฤษฎีพัฒนาการเชาว์ปัญญา กล่าวไว้ว่า " การเล่นเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางด้านสติปัญญาของเด็ก เด็กจะเริ่มรู้จักการเล่นเมื่ออยู่ในขั้นเรียนรู้จากการสัมผัส (Sensory Motor Period) ” คุณแม่อาจเล่นสมมติ โดยให้ตุ๊กตาพูดคุยโต้ตอบกับลูก นอกจากเป็นการพัฒนาเชาว์ปัญญาแล้ว ยังส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้ดี หรือของเล่นประเภทลากจูง ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อต่างๆได้อย่างดีเช่นกันค่ะ

“อย่า” นะลูก น้องหนูวัยกำลังหัดเกาะเดิน เรื่องอุบัติภัยใกล้ตัวก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นห่วงค่ะ นักวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า สมองเกี่ยวกับการเชื่อมโยงคำพูดกับการกระทำของลูกจะสมบูรณ์เมื่อลูกอายุ 7 - 8 เดือน จึงเป็นช่วงเหมาะสมที่จะสอนลูกแบบเป็นเรื่องเป็นราวได้แล้ว เพราะสมองสามารถประติดประต่อ ระหว่างสิ่งที่ทำกับคำพูดของคุณแม่ได้แล้วค่ะ นอกจากจัดพื้นที่เล่นของลูกให้ปลอดภัยแล้ว การสอนของคุณแม่ก็สำคัญค่ะ อย่างเวลาจะห้ามลูกเล่นอะไรที่ได้รับอันตราย เช่น เอานิ้วมือแหย่พัดลม ดึงปลั๊กไฟ หรือกำลังจับของร้อน ควรใช้คำพูดว่า “อย่า” ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและจริงจัง ในการสอนครั้งแรก เขาอาจไม่เชื่อฟัง ก็ให้คุณแม่อุ้มเขาออกมาจากที่ตรงนั้น ย้ำอีกครั้งว่า “อย่า นะลูก”แค่นี้...ลูกรักก็มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และเจริญเติบโตได้สมวัยแล้วค่ะ

เมนูเด็ก ๆ กับ ข้าวต้มพระจันทร์


ข้าวต้มเป็นอาหารแสนอร่อยที่ทำง่าย ยิ่งวันนี้เมนูลูกรักนำเสนอเมนูข้าวต้มที่หน้าตาน่าทานมาก เด็ก ๆ ชอบแน่ ๆ ครับ เมนูอาหารสำหรับเด็กวันนี้เสนอ “ข้าวต้มพระจันทร์” เป็นยังไงมาดูกันค่ะ


เครื่องปรุง :

1) ข้าวสวย

2) ฟักทองนึ่งบดละเอียด

3) เนื้อไก่สับ

4) ใบผักโขม หรือปวยเล้งสับหยาบ

5) น้ำซุปโครงไก่


วิธีทำอาหาร :

1) นำฟักทอง ข้าวสวยและเนื้อไก่สับ ต้มรวมกันในน้ำซุปจนสุกนิ่ม

2) ก่อนจะหรี่ไฟ ให้ใส่ผักปวยเล้งลงไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะได้ข้าวต้มสีเหลือง เสริฟอุ่นๆ ให้เจ้าตัวเล็ก

เคล็ดไม่ลับ : ฤดูหนาวคือช่วงเวลาทองของคนรักผักเมืองหนาว โดยเฉพาะ “ปวยเล้ง” ซึ่งแปลตรงตัวตามภาษาจีนว่า “มังกรบิน” กินแล้วแข็งแรงมีพลกำลังเหมือนมังกร เพราะปวยเล้งอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน