วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กิจกรรมวันพ่อ...ฟรี!! ที่พิพิธภัณฑ์เด็ก









.. วันพ่อปีนี้ พ่อเข้าฟรี
ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร มากระชับความอบอุ่นระหว่างพ่อ-ลูก ผ่านกิจกรรมแสนสนุกมากมาย อาทิ...

ชวนลูกบอกรักคุณพ่อผ่านกล้องโทรทัศน์ บันทึกลง DVD มอบเป็นของขวัญแทนใจ กับกิจกรรม "สื่อรักวันพ่อ"

สานสัมพันธ์ในครอบครัวกับกิจกรรม "พ่อลูกรวมใจช่วยกันเล่า" ที่ห้องสมุดพ่อสอนให้อ่าน แบ่งปันเรื่องเล่าดีๆ ผ่านละครหุ่นมือแสนสนุก

"การ์ดแทนใจ" ร่วมประดิษฐ์การ์ดหนึ่งเดียวจากใจให้พ่อ กิจกรรมบนเวที ชิงของรางวัลมากมาย

พาเหรดเจ้าหญิง เจ้าชายที่อาคารดิสนีย์ เลิร์นนิ่ง ทาวน์

นอกจากนี้ยังมี Walk Rally โลกร้อน ในอาคารจักรวาล กิจกรรมที่ส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัว เพียงตอบคำถาม Walk Rally ให้ถูกทุกข้อ รับ Family Green Card มูลค่า 490 บาท หรือ Kiddy Green Card มูลค่า 180 บาท ฟรีทันที ด่วน มีจำนวนจำกัด สอบถามรายละเอียดที่
โทร. 02 615 7333 หรือ www.bkkcdm.com

4 วิธี..รักวัวให้ผูก รักลูกให้ทำโทษ

...วัยเด็กเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ พ่อแม่จึงมีหน้าที่คอยดูแลเอาใจใส่และให้บทเรียนแก่ลูกเมื่อลูกทำผิดพ่อแม่หลายๆ คนมักมีความกังวลว่าควรจะอบรมสั่งสอนอย่างไร เพื่อไม่ให้ดูรุนแรงหรือหละหลวมเกินไป เรามีข้อแนะนำดีๆ ในการอบรมลูกน้อยเมื่อเขาทำผิดมาฝากกันค่ะ

1. Time out เมื่อลูกทำผิดให้พาไปในที่เงียบๆ ไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจ เพื่อให้เขาได้ทบทวนการกระทำของตัวเอง โดยระยะเวลาอาจขึ้นอยู่กับอายุของลูก เช่น 1 นาทีต่อ 1 ขวบ หรือจนกว่าลูกจะสงบสติอารมณ์ลงได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองได้ดีและยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น

2. สอนและตักเตือนด้วยวาจา
ไม่ใช้การบ่นหรือการดุด่า แต่เป็นการบอกให้ลูกทราบถึงเหตุและผลว่าสิ่งที่ทำไม่ถูกต้องอย่างไร และแนะนำสิ่งที่ถูกที่ลูกควรทำควรเป็นอย่างไร อาจใช้น้ำเสียงที่เรียบๆ แต่หนักแน่นจริงจัง เพื่อให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมนั้นไม่เหมาะสม สมควรได้รับการแก้ไข และที่พ่อแม่เตือนก็เพราะไม่อยากเห็นลูกทำผิดไม่ใช่เพราะโกรธหรือไม่รัก

3. ส่งสัญญาณเตือนก่อน
หากลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พ่อและต้องต้องส่งสัญญาณเตือนให้ลูกหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องมีการจัดการกับพฤติกรรมของเขาโดย การเตือน อาจใช้น้ำเสียงที่เข้มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกรับรู้ถึงสัญญาณอันตรายที่ซ่อนอยู่ ทำให้ลูกมีโอกาสแก้ตัวหรือเตรียมตัวเตรียมใจหากต้องถูกลงโทษ

4. ทำโทษด้วยการตี
วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้าย หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากวิธีนี้ หากมีเหตุผลไม่เพียงพอหรือทำไปด้วยอารมณ์โกรธ ผลที่ได้จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้น การตีลูกจะต้องคำนึงถึงหลักดังนี้

อย่าตีพร่ำเพรื่อ การตีลูกไม่จำเป็นต้องตีบ่อยๆ เพราะเด็กที่โดนตีบ่อย มีแนวโน้มที่จะเกเรและต่อต้านมากยิ่งขึ้น ดังนั้น พฤติกรรมบางอย่างที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องลงไม้ลงมือ เช่น การร้องไห้โวยวายการปัสสาวะรดที่นอน ใช้การตักเตือนก็เพียงพอ

การตีแรงๆ หรือการตีโดยใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง จะทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้พ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องระมัดระวังอย่าใช้กำลังกับลูกมากเกินไป และควรจะตีเมื่อลูกทำผิดเรื่องเดิมเป็นครั้งที่สอง ทั้งๆ ที่พ่อแม่ได้ตักเตือนไปแล้ว จึงจะเป็นการตีที่สมเหตุสมผล

การใช้ไม้เรียว เข็มขัด หรือไม้แขวนเสื้อตีลูก จะเป็นการทำให้ลูกบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ ลูกจะรู้สึกหวาดกลัวและตื่นตระหนก สิ่งที่ตามมาคือลูกจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความผิด แต่คิดว่าพ่อแม่ใช้กำลังกับเขา

อย่าตีลูกต่อหน้าคนอื่น การตีลูกต่อหน้าคนอื่นจะทำให้ลูกอับอายและเสียหน้า วิธีจัดการเมื่อลูกทำตัวไม่น่ารักขณะมีผู้อื่นอยู่ด้วย ให้พ่อแม่ใช้วิธีเตือนด้วยเสียงเข้มๆ ก่อน หากเขาไม่หยุดก็ให้พาลูกแยกออกไปสักพักแล้วค่อยลงโทษ

การที่พ่อแม่จะอบรมสั่งสอนลูก สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การระงับสติอารมณ์และใช้เหตุผลให้มาก และพ่อแม่ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กๆ ได้เห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กจะซึมซับพฤติกรรมของคนรอบข้างได้เร็ว และเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี พ่อแม่ก็ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจเพื่อให้ลูกมีกำลังใจที่จะทำดีต่อไปค่ะ

เสียงดี ๆ ที่ลูกน้อยอยากฟัง


ลูกมีต้นทุน ทักษะการฟังหรือได้ยินมาตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่ สิ่งสําคัญคือ เสียงที่ลูกรับรู้ช่วยเชื่อมโยงข้อมูล ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมากมาย และเพื่อให้หายข้องใจเรื่องเสียง เรามาอ่านข้อมูลต่อไปนี้กันค่ะ

เสียงเพลง เสียงแม่ที่ร้องเพลงกล่อมลูก แม้เป็นเสียงที่คุ้นเคยมาก่อนแล้ว ถึงตอนนี้ก็ยังชอบฟังมากที่สุดโดยเฉพาะเสียงเพลง ที่มีเนื้อร้อง คําคล้องจอง อย่างเพลงกล่อมเด็ก ก็ช่วยปูพื้นฐาน เรื่องภาษาให้กับลูก และหากสังเกตคุณแม่จะพบว่า
• เสียงเพลงที่มีจังหวะตื่นเต้น สนุกสนาน ลูกจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแขนขา • เสียงเพลงที่มีจังหวะเบาๆ ช้าๆ ลูกจะอยู่สงบนิ่ง อารมณ์ดี รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย

นอกจากเสียงเพลงแล้ว เครื่องเล่นที่มีเสียง ก็ช่วยกระตุ้น ทักษะการฟัง ทําให้เกิดการเรียนรู้ที่จะใช้สายตาประสานกับกล้ามเนื้อมัดเล็ก อย่างนิ้วมือเพื่อกดหรือเคาะเป็นจังหวะ

เสียงดนตรี คือเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรี ประกอบกันเป็นทํานองเพลง เสียงดนตรีสําหรับเด็กเล็ก แนะนําว่าควรเป็นเสียงที่มีจังหวะ ท่วงทํานองเบาๆ ช้าๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความรู้สึก เสียงดนตรีที่รู้จักในวงกว้างแวดวงพ่อแม่ ก็คือดนตรีคลาสสิก

ในงานวิจัยพบว่า คลื่นเสียงดนตรีคลาสสิก ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่มีระเบียบ เมื่อเข้าไปกระตุ้นอวัยวะการรับเสียง ต่อเนื่องไปยังสมองส่วนการรับรู้ เกิดการรับ-ส่งและเชื่อมโยงส่งถึงสมอง เซลล์สมองจะเกิดการแตกตัวมากขึ้น สมองจึงเปิดรับสิ่งต่างๆ เรียนรู้ได้ดีเพราะมีสมาธิจากการฟัง หรือหากไม่เกี่ยง เสียงดนตรีไทยที่มีมานานในบ้านเรา ก็มีจังหวะ ท่วงทํานองสบายๆ ฟังได้ง่าย เลือกเปิดให้ลูกฟังได้เช่นกันค่ะ

เสียงต้องห้าม คือเสียงที่มีระดับความดังเกิน 70-80 เดซิเบล ร่วมกับการได้ยินบ่อยครั้ง เช่น เสียงเครื่องจักรในโรงงาน ถือเป็นเสียงต้องห้ามควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจส่งผลทําให้ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง หรือเสียงบางประเภท เช่น เสียงแตรรถยนต์ เสียงดนตรีที่มีจังหวะรุนแรง จังหวะไม่แน่นอน ออกแนวอึกทึก สับสนวุ่นวาย จัดเป็นเสียงที่ไม่พึงประสงค์ที่ทําให้เด็กอาจไม่ชอบ ที่สําคัญ ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ กลายเป็นเด็กหงุดหงิด งอแงได้ง่าย มีทัศนคติกับเสียงนั้นๆ

DO...

• ร้องเพลงหรือพูดคุยกับลูกอยู่บ่อยๆ สอนให้รู้ด้วยว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร

• ฝึกทักษะการฟังเสียงผ่านการเล่น เช่น การเคาะ ตี ของมีเสียงเป็นจังหวะ เช่น โมบาย กระดิ่ง มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง

• เสียงจากธรรมชาติ ก็ช่วยให้ลูกเรียนรู้ เพิ่มประสบการณ์ การฟังที่หลากหลาย เช่น เสียงน้ำไหล เสียงลม

เสียงมีอิทธิพลส่งต่อถึงอารมณ์และจิตใจ โดยเฉพาะเสียงของพ่อแม่ ที่ทําให้ลูกอบอุ่นและปลอดภัย ที่สําคัญ เป็นจุดเริ่มต้นต่อยอดไปถึงพัฒนาการทางภาษา และการพูดในอนาคต ถ้าการฟังของลูกดี การสื่อสาร ใช้ภาษาก็ย่อมดีไปด้วย

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เคล็ดลับ..เสริมพัฒนาการให้เจ้าตัวน้อย

เมื่อผ่านพ้นจากวัยแห่งการคืบคลานมาแล้ว ต่อจากนี้ไปซิ…
เริ่มเป็นไคล์แมกซ์ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตื่นเต้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะเจ้าหนูวัย 9 -12 เดือน จะซุกซน เคลื่อนไหวและเล่นได้อย่างอิสระมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็นวัย “นักเกาะมืออาชีพ” ซึ่งเป็นวัยแรกเริ่มของการเดินเตาะแตะในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาจะรู้ว่าโตขึ้นแล้ว เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และรู้จักการปฏิเสธมากขึ้น ดังนั้นบทบาทของคุณพ่อคุณแม่ต่อการเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ จึงมีส่วนสำคัญเป็นอันมากค่ะ

หม่ำ หม่ำ ในช่วงวัยนี้ยังคงหม่ำนมเป็นอาหารหลัก และให้อาหารเสริมตามวัย 2 มื้อแต่อาจจะเน้นมากขึ้นตามวัยที่โตขึ้นก็ได้ค่ะ ซึ่งต่อไปนี้เป็นโปรแกรมอาหารของเด็กที่ควรรู้

นม ส่วนมากเด็กผู้ชายมักจะหม่ำเก่งมากกว่าเด็กผู้หญิงค่ะ สำหรับเด็กที่หม่ำนมวัวผสม ควรเป็นนมที่เหมาะสมสำหรับอายุ แต่ไม่ควรให้ในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยทั่วๆ ไป ถึงแม้เด็กจะโตแล้วก็ไม่ควรให้หม่ำเกินวันละ 1 ลิตร (1,000 ซี.ซี.) เพราะจะทำให้เป็นโรคอ้วนได้

โปรตีน ที่มีอยู่ในอาหารจำพวกเนื้อแดงไม่ติดมัน ไข่ นม ถั่วฝักอ่อน และโดยเฉพาะในเนื้อปลาทะเลลึกอย่าง ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า จะดีเป็นพิเศษ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยในการซ่อมแซมเซลล์เนื้อเยื่อที่สึกหรอ และการเจริญเติบโตของสมอง

ผลไม้ วิตามินต่างๆ มีบทบาทสำคัญในกระบวนการดูดซึมและให้พลังงานแก่สมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ ผลไม้ตระกูลส้มมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูง ซึ่งช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้นกันในร่างกายด้วยค่ะ ควรเน้นผลไม้ เช่น ส้ม มะม่วง องุ่น พีช แตงโม ฯลฯ

ผัก ในแต่ละวันควรให้ทานผักมากๆ ค่ะ เพราะอุดมด้วยสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ มีอยู่ผักสีต่างๆ เช่น ฟักทอง รวมถึงผักบุ้ง ช่วยให้ประสาทตากับสมองทำงานเชื่อมโยงกัน วิตามินบี มีอยู่ในธัญพืช ผักสีเขียว ฯลฯ ช่วยให้ความคิดอ่านโลดแล่น

ตั้งไข่ล้ม

ส่วนใหญ่เด็กมักจะตั้งไข่เมื่ออายุ 9 - 12 เดือน คุณแม่คงจะพอมีเวลาค่อยๆ หัดไป พยายามหาของเล่นมาชูหลอกล่อให้เขายืนอย่างมั่นคง หรือเรียกชื่อเขาให้หันมาหา ให้ฟังเพลงและดนตรีที่สนุกสนาน แต่อย่าเคี่ยวเข็ญว่า ต้องทำได้ทันทีทันใดนะคะ อาจทำให้ลูกรู้สึกกลัว ต้องค่อยๆ สร้างความมั่นใจให้ลูกกล้ายืน ไม่กลัวล้ม ไม่กลัวเจ็บ รวมทั้งไม่ควรโอ๋หรืออุ้มมากเกินไปจนลูกไม่เคยลองทำ เพราะอาจทำให้กลัวและมีพัฒนาการด้านนี้ช้าได้

ภาษาที่สนุกสนาน
ควรทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นเคย และสามารถสื่อสารได้เร็วขึ้น

ท่าทางประกอบ
เพื่อสอนภาษาไปพร้อมกัน เช่น ต้องการจะสอนให้ลูกบอกเวลาที่หิวข้าว ขณะที่คุณแม่เอามือไปที่ปาก ก็ให้พูดด้วยว่า “กินข้าว” หรือ “หิวข้าว” เป็นต้น

ประสบการณ์หลากหลาย ควรให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เขาได้คำศัพท์ใหม่ๆ เช่น ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เดินในสนามเด็กเล่น หรือเที่ยวสวนสัตว์ พยายามพูดกับเด็กในแบบง่ายๆ ให้รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ หรือถ้าเคยไปเที่ยวสวนสัตว์ อาจจะเอารูปสัตว์ที่ลูกเจอมาถาม เช่น ถามว่า พี่ไก่สีอะไร และร้องยังไง ฯลฯ

การร้องเพลง หรือคำกลอนง่ายๆ
โดยธรรมชาติเด็กทุกคนจะชอบดนตรีอยู่แล้ว คำกลอนที่มีสัมผัสน่าฟัง เช่น การสอนลูก “จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้าคว้าปูทะเล” "จันทร์เจ้าเอย ขอข้าวขอแกง” เพลงเด็กๆ อีกหลายเพลงก็ช่วยทำให้การเรียนรู้เรื่องภาษาเร็วขึ้น

สมองลูกด้านบวก เพียเจต์ (Piaget) ผู้สร้างทฤษฎีพัฒนาการเชาว์ปัญญา กล่าวไว้ว่า " การเล่นเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางด้านสติปัญญาของเด็ก เด็กจะเริ่มรู้จักการเล่นเมื่ออยู่ในขั้นเรียนรู้จากการสัมผัส (Sensory Motor Period) ” คุณแม่อาจเล่นสมมติ โดยให้ตุ๊กตาพูดคุยโต้ตอบกับลูก นอกจากเป็นการพัฒนาเชาว์ปัญญาแล้ว ยังส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้ดี หรือของเล่นประเภทลากจูง ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อต่างๆได้อย่างดีเช่นกันค่ะ

“อย่า” นะลูก น้องหนูวัยกำลังหัดเกาะเดิน เรื่องอุบัติภัยใกล้ตัวก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นห่วงค่ะ นักวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า สมองเกี่ยวกับการเชื่อมโยงคำพูดกับการกระทำของลูกจะสมบูรณ์เมื่อลูกอายุ 7 - 8 เดือน จึงเป็นช่วงเหมาะสมที่จะสอนลูกแบบเป็นเรื่องเป็นราวได้แล้ว เพราะสมองสามารถประติดประต่อ ระหว่างสิ่งที่ทำกับคำพูดของคุณแม่ได้แล้วค่ะ นอกจากจัดพื้นที่เล่นของลูกให้ปลอดภัยแล้ว การสอนของคุณแม่ก็สำคัญค่ะ อย่างเวลาจะห้ามลูกเล่นอะไรที่ได้รับอันตราย เช่น เอานิ้วมือแหย่พัดลม ดึงปลั๊กไฟ หรือกำลังจับของร้อน ควรใช้คำพูดว่า “อย่า” ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและจริงจัง ในการสอนครั้งแรก เขาอาจไม่เชื่อฟัง ก็ให้คุณแม่อุ้มเขาออกมาจากที่ตรงนั้น ย้ำอีกครั้งว่า “อย่า นะลูก”แค่นี้...ลูกรักก็มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และเจริญเติบโตได้สมวัยแล้วค่ะ

เมนูเด็ก ๆ กับ ข้าวต้มพระจันทร์


ข้าวต้มเป็นอาหารแสนอร่อยที่ทำง่าย ยิ่งวันนี้เมนูลูกรักนำเสนอเมนูข้าวต้มที่หน้าตาน่าทานมาก เด็ก ๆ ชอบแน่ ๆ ครับ เมนูอาหารสำหรับเด็กวันนี้เสนอ “ข้าวต้มพระจันทร์” เป็นยังไงมาดูกันค่ะ


เครื่องปรุง :

1) ข้าวสวย

2) ฟักทองนึ่งบดละเอียด

3) เนื้อไก่สับ

4) ใบผักโขม หรือปวยเล้งสับหยาบ

5) น้ำซุปโครงไก่


วิธีทำอาหาร :

1) นำฟักทอง ข้าวสวยและเนื้อไก่สับ ต้มรวมกันในน้ำซุปจนสุกนิ่ม

2) ก่อนจะหรี่ไฟ ให้ใส่ผักปวยเล้งลงไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะได้ข้าวต้มสีเหลือง เสริฟอุ่นๆ ให้เจ้าตัวเล็ก

เคล็ดไม่ลับ : ฤดูหนาวคือช่วงเวลาทองของคนรักผักเมืองหนาว โดยเฉพาะ “ปวยเล้ง” ซึ่งแปลตรงตัวตามภาษาจีนว่า “มังกรบิน” กินแล้วแข็งแรงมีพลกำลังเหมือนมังกร เพราะปวยเล้งอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน

โภชนาการ..อาหารสำหรับคุณแม่


อาหารที่คุณแม่ควรรับประทาน
ระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหารทั้งหมดที่ต้องการในการเจริญเติบโตจากคุณแม่ ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงในช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นนี้

คุณแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการได้รับสารอาหารครบทั้งห้าหมู่

เคล็ดลับน่ารู้สำหรับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

-เลือกอาหารที่หลากหลายจากอาหารในแต่ละหมู่เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ได้รับอาหารครบทั้งห้าหมู่
-หากคุณแม่รู้สึกกังวลว่า ไม่ได้รับประทานอาหารครบหมู่ ขอแนะนำให้สอบถามสูติแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์เกี่ยวกับ อาหารเสริม
-ทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 - 3 ครั้งต่อวัน
-พยายามทานผลไม้และผัก ซีเรียลธัญพืช และถั่วชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ในร่างกาย
-ดื่มน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
-ดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น นมพร่องไขมัน น้ำผลไม้สด และซุป
-ในแต่ละสัปดาห์ ควรรับประทานปลาที่มีไขมันหนึ่งส่วน และปลาไร้ไขมันหนึ่งส่วน (แต่ให้หลีกเลี่ยงปลาฉลาม ปลาดาบเงิน และปลากระโทงแทง)
-ใช้น้ำมันพืชในการทำอาหาร เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก และน้ำมันดอกทานตะวัน โดยใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป
-จำกัดการรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธี หรืออาหารหมักดอง ซึ่งมักจะมีเกลืออยู่ในปริมาณมาก
-ลดปริมาณคาเฟอีนที่คุณรับประทานลงให้น้อยกว่า 4 แก้วต่อวัน
-จำกัดการทานของหวาน ของขบเคี้ยว เค้ก คุกกี้ ไขมัน น้ำมัน และน้ำตาล อาหารเหล่านี้ให้แคลอรี่
แต่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางอาหารที่คุณแม่และลูกน้อยต้องการ การทานตามใจปากในช่วงนี้ จะทำให้คุณแม่กลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมได้ยาก ดังนั้น พยายามหักห้ามใจ ไม่ทานของหวานพวกนั้นบ่อยเกินไป


วิตามินและสารอาหารที่คุณแม่ต้องการระหว่างการตั้งครรภ์

กรดโฟลิค
กรดโฟลิคช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ที่เรียกว่า Spina Bifida ช่วงเวลาที่เหมาะจะรับประทานคือช่วง 2-3 เดือนก่อนคลอด และระหว่างระยะที่ 1 ของการตั้งครรภ์ (12 สัปดาห์แรก) ในช่วงเวลาดังกล่าว จำเป็นมากที่คุณแม่จะต้องรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และครบห้าหมู่ พร้อมทั้งรับประทานกรดโฟลิค พร้อมทั้งคุณแม่สามารถเลือกอาหารที่มีกรดโฟลิคสูงมารับประทาน เช่น ผักที่มีสีเขียวอย่างบล็อคโคลี่ กระหล่ำปลี ฝักถั่วและเมล็ดถั่ว และผลไม้ เช่น ส้ม

ธาตุเหล็กและวิตามินซี
ธาตุเหล็กเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่คุณแม่ต้องการตลอดเวลาในช่วงการตั้งครรภ์ เพราะเป็นสารสำคัญในการช่วยให้ออกซิเจนไหลเวียนไปกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกน้อยในครรภ์ใช้ในการพัฒนาสมอง หากขาดธาตุเหล็ก ลูกในครรภ์อาจจะไม่เป็นอะไร แต่ตัวคุณแม่เองจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคโลหิตจางซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย และไม่สบายตัว สูติแพทย์ของคุณแม่อาจแนะนำให้ทานธาตุเหล็กเป็นอาหารเสริม หรือไม่คุณแม่ก็ต้องแน่ใจว่าได้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเพียงพอ เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผลไม้แห้ง ซีเรียลธัญพืชและขนมปังธัญพืช และผักใบเขียว ธาตุเหล็กจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี หากคุณแม่รับประทานผักหรือผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงไปพร้อมกัน ดังนั้น ให้ดื่มน้ำผลไม้ไปพร้อมกับการทานซีเรียล หรือทานผลไม้สดขณะที่กำลังเริ่มทานอาหารมื้อหลักเพื่อช่วยในการดูดซึมให้ดีขึ้น

ไขมันโอเมก้า การได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นสารที่ช่วยให้ระบบประสาทของลูกน้อยพัฒนาได้ดี ทั้งยังช่วยป้องกันโรคหัวใจให้กับคุณแม่ได้ นอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่าการได้รับไขมันโอเมก้าระหว่างการตั้งครรภ์จะทำให้ลูกน้อยฉลาดขึ้นอีกด้วย
ปลาที่มีไขมัน อย่างเช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน ต่างก็มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่สูง แต่คุณแม่ก็ไม่ควรรับประทานมากกว่า 2 ส่วนต่อสัปดาห์ เพราะปลาเหล่านั้นมีสารปรอทอยู่ด้วย หากได้รับในปริมาณสูง อาจจะทำให้เกิดอันตรายกับลูกในท้องได้ ซึ่งคุณแม่อาจเลือกที่จะรับกรดไขมันโอเมก้า 3 จากแหล่งอื่น ได้ในเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดนุ่น หรือถั่วเหลือง ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน หรือคุณแม่จะเลือกทานอาหารเสริมแทนก็ได้

วิตามินเสริมก่อนคลอด คุณแม่สามารถเลือกทานวิตามินรวมที่ผลิตสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงใกล้คลอดโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่ครบทั้งห้าหมู่เหมาะสำหรับการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยได้รวมเอากรดโฟลิค และธาตุเหล็กไว้แล้วด้วย แต่ต้องดูให้แน่ใจด้วยว่า คุณแม่ได้เลือกเอาวิตามินรวมที่ทำขึ้นสำหรับคนใกล้คลอดหรือคนท้องเท่านั้น ไม่ใช่วิตามินรวมธรรมดาทั่วไป ซึ่งจะมีวิตามินที่ควรหลีกเลี่ยงอยู่ในปริมาณสูง



วิตามินเอ อาหาร อย่างเช่น ตับบดและไส้กรอกตับ เป็นแหล่งของธาตุเหล็กที่ดี แต่ก็มีวิตามินเออยู่ในปริมาณสูง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หากรับประทานมากเกินไป คุณแม่ควรทราบไว้อีกด้วยว่า วิตามินเสริมบางตัวก็มีวิตามินเอในปริมาณสูง ดังนั้น ต้องเลือกทานอาหารเสริมที่ปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์เท่านั้น สูติแพทย์สามารถช่วยแนะนำได้ในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม มีอีกรูปแบบหนึ่งของวิตามินเอซึ่งดีต่อหญิงตั้งครรภ์ นั่นก็คือแคโรทีน ซึ่งมีมากในพริกหยวกสีแดง เหลืองและส้ม ผลไม้เช่น มะม่วง แครอท มันฝรั่งหวาน แอพพริคอท มะเขือเทศ และผักวอเทอร์เครส



อาหารและเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยง
การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอาหาร ที่ควรหลีกเลี่ยงและอาหารที่ควรรับประทาน อาหารบางชนิดอาจทำอันตรายต่อลูกน้อยและทำให้คุณแม่ป่วย ดังนั้น ความปลอดภัยของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้โดยเด็ดขาด

-ไข่ดิบหรือไข่ที่ปรุงไม่สุกหรืออาหารที่ทำจากไข่เหล่านั้น โดยไข่ที่ทานได้ ควรผ่านการปรุงให้สุก ไม่ควรอยู่ในสภาพที่เป็นของเหลว
-เนื้อหรือปลาที่ปรุงไม่สุก หรือเกือบดิบ โดยเนื้อที่ทานได้ต้องไม่มีสีชมพูเหลืออยู่
-ปลาหรือเนื้อที่เสิร์ฟดิบๆ เช่น ซูชิ สเต็กบางชนิด ปลาแซลมอนรมควัน หอยนางรม
-นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อและ เนยแข็ง
-ตับบดหรืออาหารประเภทตับ โดยอาหารพวกนี้จะมีวิตามินเออยู่สูงมาก ซึ่งอาจทำอันตรายต่อลูกน้อย ของคุณ
-อาหารที่ผ่านการปรุงบางชนิด เช่น สลัดมันฝรั่ง หรือโคสลอว์ บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Listeria อยู่เป็นจำนวนมาก
-ก่อนจะรับประทาน ตรวจดูให้แน่ใจว่าอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่อุ่นซ้ำนั้นผ่านความร้อนทั่วถึงดีแล้วหรือยัง
-ระมัดระวังการทานบาร์บีคิว เพราะเนื้อมักจะถูกวางทิ้งไว้ ก่อนจะนำมารับประทาน
-ปลาดาบเงิน ปลากระโทงแทง และปลาฉลาม ปลาเหล่านี้มีสารปรอทตามธรรมชาติอยู่ในระดับที่อาจไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจทำอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกน้อยในครรภ์ ปลาทูน่าก็มีสารปรอทเช่นกัน คุณแม่จึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานอยู่ที่กระป๋องขนาดกลาง (น้ำหนักไม่รวมน้ำ 140 กรัมต่อกระป๋อง) หรือเนื้อปลา 2 ก้อน (สูงสุด 170 กรัม ต่อก้อน) ต่อสัปดาห์
-ควรหลีกเลี่ยงการทานถั่วลิสงระหว่างตั้งครรภ์และการให้นม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีประวัติการเป็นภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น โรคหอบหืด โรคเรื้อนกวางหรือโรคแพ้ละอองเกสร
-แอลกอฮอล์ การได้รับปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหามากมายกับลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะลูกอ่อนที่อายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ และแม้จะบริโภคแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย ก็ยังอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของลูกในครรภ์ได้

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

เชื้อรา!! จากผื่นผ้าอ้อม

ผิวหนังของลูกแรกเกิด ยังเจริญเติบโตไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ต่อมเหงื่อก็ยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ง่าย โดยเฉพาะผดผื่น จากการสวมใส่ผ้าอ้อม ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลสุขภาพผิวลูกน้อยอย่างถูกวิธีค่ะ

เชื้อรา มาจากไหน?

เชื้อรา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการเป็นผื่นผ้าอ้อม มาจาก 2 ปัจจัย คือ ความอับชื้นบวกกับปัสสาวะ-อุจจาระเป็นตัวกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ผิวหนังของลูกเกิดการอักเสบ เป็นแผลถลอกมีลักษณะเป็นจุดๆ สีแดงสดตามขาหนีบ รอยพับ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ลูกมักร้องไห้งอแงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม เพราะลูกรู้สึกปวด แสบ ผิวหนังบริเวณนั้นๆ เมื่อมีการสัมผัส
ดังนั้น หากคุณแม่ดูแลความสะอาดเป็นสำคัญ อาการผื่นผ้าอ้อมมักจะหายได้เอง แต่ถ้าปล่อยให้ผิวลูกสัมผัสอุจจาระและปัสสาวะเป็นเวลานาน หมักหมมจนเกิดการอับชื้น ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้เชื้อโรคเติบโต เกิดการติดเชื้อง่ายมากขึ้น

ป้องกันเชื้อราอย่างไร?

ความไม่สะอาด ความเปียกชื้น เป็นปัจจัยทำให้ เกิดปัญหาเชื้อรา ฉะนั้น การป้องกันอยู่ที่การดูแลของคุณพ่อคุณแม่
ด้วยวิธีการต่อไปนี้
+ ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก
+ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกบ่อยๆ ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณก้น และขาหนีบ
+ ล้างบริเวณก้น ขาหนีบให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า และซับเบาๆ ให้แห้งไม่ให้เปียกชื้น
+ ผ้าอ้อมหรือของใช้ที่ผิวลูกสัมผัส คุณแม่ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด ไม่มีสารเคมีหรือสิ่งสกปรกตกค้าง
+ การใส่ผ้าอ้อมแบบผ้าฝ้ายก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการอับชื้นให้ลูกได้ เพราะระบายอากาศได้ดี

การรักษาเชื้อรา

เพื่อรักษาอาการที่ถูกวิธี ควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนเรื่องเชื้อรา จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อระงับการเจริญเติบโตของเชื้อรา ดังนั้น หากอาการผื่น ผ้าอ้อมของลูกไม่ดีขึ้น เป็นนานหลายวัน ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ ไม่ปล่อยทิ้งไว้ เพราะ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

ทำอย่างไรดี..เมื่อลูกขาโก่ง

ทําไมเบบี๋จึงขาโก่ง?
โดยทั่วไปแล้วเมื่อเบบี๋คลอดออกมา คุณแม่หลายท่านอาจสังเกตเห็นว่าขาและเข่าของลูกโก่งหรือโค้งงอเล็กน้อยทั้งสองข้างหรือข้างเดียว หรือปลายเท้าบิดเข้าด้านใน ซึ่งอาการนี้มักพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด สาเหตุที่ทําให้ลูกขาโก่งอาจเกิดขึ้นเพราะตอนที่อยู่ในท้องแม่ในระยะสุดท้ายก่อนคลอด ตัวเด็กใหญ่ขึ้นจึงต้องเบียดตัวเองให้อยู่ในมดลูกที่มีเนื้อที่จํากัด ทารกส่วนใหญ่จึงมักจะอยู่ในท่าขัดสมาธิและงอสะโพกให้มากที่สุด
ในช่วงแรกเกิดถึงขวบปีแรก เบบี๋จะมีอาการขาโก่ง ซึ่งอาการนี้ จะค่อยๆ คลายออกตามธรรมชาติและการเจริญเติบโต เมื่อลูกเริ่มใช้เข่าหัดคลานหรือหัดเดิน ก็จะทําให้ข้อสะโพกแข็งแรงขึ้นและกระดูกจะค่อยๆ ปรับตัวเองให้ตรงขึ้น ทําให้อาการขาโก่งหรือเข่าโค้งปรับเข้าสู่ปกติได้เองเมื่อลูกอายุ 18-24 เดือน ดังนั้น ถ้าลูกขาโก่งในช่วงทารกถือว่าเป็นภาวะปกติทางสรีระร่างกายค่ะ


สังเกตขาของเบบี๋..ขาโก่งแบบนี้ปกติไหม?
อาการขาโก่งของเบบี๋ คุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ค่ะ โดยถ้าเป็นอาการขาโก่งปกติมักจะเป็นตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งขาและเข่าจะโก่งหรือโค้งงอเท่าๆ กันทั้งขาซ้ายและขาขวา หากคุณแม่คอยสังเกตไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าขาของลูกจะตรงขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเริ่มโตขึ้นค่ะ
ทั้งนี้ ถ้าเป็นอาการขาโก่งตั้งแต่แรกเกิดในลักษณะนี้ คุณแม่ไม่จําเป็นต้องดัดขาเพื่อให้ขาของลูกตรง เพราะขาของลูก จะตรงเป็นปกติได้ตามวัยอยู่แล้ว

อีกสาเหตุหนึ่งของอาการขาโก่งของเบบี๋ เกิดจากความผิดปกติหรือผิดรูปของกระดูก
โดยคุณแม่สามารถสังเกตขาของลูกได้ ดังนี้
• ขาทั้ง 2 ข้าง มีความโก่งไม่เท่ากัน
• ขาโก่งหรือบิดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ตรงขึ้นตามอายุ
• ขาโก่งมากในบางตําแหน่ง โดยมุมที่โก่งหักเป็นมุมแหลม
• ขาโก่งร่วมกับตัวเตี้ย (ต้องวัดส่วนสูงและเทียบกับเส้นค่าเฉลี่ยตามวัย)
นอกจากนี้ โรคกระดูกบางโรคอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม และถ้าลูกตัวอ้วนมากก็ทําให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคกระดูกงอหรือขาโก่งได้ง่าย ซึ่งคุณแม่ต้องสังเกตสัดส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ลูกประกอบด้วย ดังนั้น หากลูกมีอาการขาโก่งไม่หายตามวัยและคุณแม่ไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูให้แน่ใจ เพื่อจะได้รักษาอาการได้ง่าย เพราะหากพบว่า ลูกมีอาการผิดปกติของกระดูกเมื่อลูกโตแล้ว การรักษาจะยากยิ่งขึ้นเพราะกระดูกของลูกเริ่มแข็งขึ้นแล้วค่ะ


ป้องกันไม่ให้เบบี๋ขาโก่งได้อย่างไร?
หากลูกขาโก่งไปตามพัฒนาการของขา คุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลและปล่อยไปตามธรรมชาติดีที่สุด แต่คุณแม่สามารถ ป้องกันไม่ให้ลูกน้อยขาโก่งมากขึ้นหรือกระดูกขาผิดรูปได้ ดังนี้
• ให้ลูกได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถ รักษาภาวะสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือดและในกระดูก ถ้าขาดวิตามินดีจะทําให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ขาจะโก่งหรือถ่าง เนื่องจากไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ โดยวิตามินดีจะมีอยู่ในอาหาร เช่น นม ตับสัตว์ ไข่แดง เป็นต้น และคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปเดินเล่นนอกบ้านเพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดดยามเช้าบ้าง ก็จะช่วยเสริมสร้างกระดูกของลูกน้อยให้แข็งแรง
• การดัดหรือยืดขาทารกเบาๆ หลังอาบน้ำอาจไม่เกี่ยวกับการโก่งหรือไม่โก่งของขา แต่การดัดหรือยืดขาของลูกเบาๆ จะช่วยให้ลูกได้ยืดเส้นยืดสาย ทั้งนี้คุณแม่อาจใช้วิธีการนวดคลึง เบาๆ บริเวณขาของลูก ก็จะช่วยให้ขาของลูกแข็งแรงและลูกก็จะสบายตัวยิ่งขึ้นค่ะ
• นอกจากการนวดหรือดัดขาของลูกแล้ว คุณแม่ต้องคอยจัดท่านั่งและท่านอนของเบบี๋ให้อยู่ในท่าที่ถูกต้อง เพื่อจะไม่ทําให้ เกิดการโค้งงอหรือการผิดรูปของกระดูก



T i p s : การยืดและนวดขาให้ลูกน้อย คุณแม่สามารถทําได้ง่ายๆ ดังนี้

• นวดขาลูกทีละข้าง โดยจับขายกขึ้นแล้วใช้มืออีกข้างจับรอบขา นวดคลึงเป็นวงกลม เริ่มจากต้นขาค่อยๆไล่ไปปลายเท้า แล้วใช้หัวแม่มือกดฝ่าเท้าลูกเบาๆ จากนั้นใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างคลึงขาลูกไปมาเบาๆ โดยให้สองมือของคุณแม่สวนทางกัน เริ่มจากหัวเข่าไล่ไปจนถึงข้อเท้า คลึงไปมา 5-10 ครั้ง
• คุณแม่อาจใช้มือจับขาของลูกและเหยียดให้ตรง หลังอาบน้ำ หรือถ้าเบบี๋อายุ 2 เดือนขึ้นไปแล้ว คุณแม่สามารถทําท่าถีบจักรยานให้ลูกได้ โดยให้ลูกนอนหงาย คุณแม่นั่งอยู่ตรงปลายเท้าของเบบี๋ แล้วจับที่น่องขาขวาและขาซ้ายข้างละมือ จากนั้นค่อยๆ งอเข่าดันไปที่ท้องหรือหน้าอก แล้วเหยียดออก ทําทีละข้างก่อน 5-10 ครั้ง แล้วจึงทําพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งท่านี้จะช่วยให้ข้อเข่าของเบบี๋แข็งแรง
• หากเบบี๋อยู่ในวัยที่สามารถคลานหรือเริ่มหัดเดินแล้ว คุณแม่สามารถทําท่าแยกขาให้ลูกได้ โดยคุณแม่นั่งด้านหลัง ลูก แล้วจับขาลูกทั้งสองข้างค่อยๆ แยกออกด้านข้าง จากนั้นให้ลูกโน้มตัวไปด้านหน้า โดยที่คุณแม่ยังจับขาไว้ ซึ่งท่านี้จะช่วยให้เด็กได้ยืดตัวมากขึ้นและช่วยดัดขาให้ตรงขึ้นด้วย
• ในขณะที่นวดหรือยืดขาของลูก หากลูกร้องหรือขาแดง แสดงว่าคุณแม่ออกแรงมากเกินไปจนทําให้ลูกเจ็บ ให้หยุดนวดหรือนวดให้เบาลงค่ะ

mother & care

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

6 วิธีดูแลครรภ์ พร้อมเลี้ยงลูกเล็ก


เพิ่งจะคลอดเจ้าตัวเล็กได้ไม่นาน แต่คุณแม่ก็ตั้งครรภ์อีกครั้งแล้ว ไหนจะต้องดูแลลูกคนโต ดูแล ตัวเอง และต้องรับมือกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอีก ลองมาดูเคล็ดลับเพื่อรับมือกับการตั้งครรภ์พร้อมๆ กับการเลี้ยงลูกกันค่ะ



1.รีบฝากครรภ์
ทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์อีกครั้ง ควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อตรวจดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก หรือตั้งครรภ์ใหม่ภายใน 3 เดือนหลังจากคลอดลูก อย่าวางใจว่าการตั้งครรภ์ครั้งที่แล้วปกติดีคราวนี้ก็คงไม่เป็นอะไร หรือซื้อยามากินเอง การฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ คุณหมอจะได้ช่วยดูแลสุขภาพและแนะนำวิธีบำรุงร่างกาย เพราะคุณแม่จะต้องเหนื่อยขึ้นเป็น 2 เท่า กับการเลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับ การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ครั้งนี้อาจเลือกฝากครรภ์กับแพทย์คนเดิม เพราะจะทราบประวัติและสุขภาพของคุณแม่อยู่แล้ว นอกจากนี้ หากต้องเลี้ยงลูกด้วย การเดินทางไกลอาจไม่สะดวกนัก จึงควรเลือกฝากครรภ์กับสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือเดินทางสะดวก ก็จะช่วยประหยัดเวลาและไม่เหนื่อยด้วยค่ะ

2. ให้นมลูกคนโต
หากมีเจ้าตัวเล็กอยู่ในท้องอีกคนตอนที่ลูกคนโตยังเล็กอยู่ ก็ยังสามารถให้ลูกคนโต ดูดนมหรือปั๊มนมได้ แต่ถ้าสังเกตว่าในขณะที่ให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมแล้วรู้สึกว่ามดลูก มีการบีบรัดตัว ก็ควรหยุดให้นมก่อน เพราะการให้ลูกดูดนม (โดยเฉพาะช่วงที่อายุครรภ์มาก แล้ว) จะกระตุ้นให้ฮอร์โมนออกซิโตซินหลั่งมาจากต่อมใต้สมองมากขึ้น ทำให้เกิดการบีบรัดตัว ของมดลูก จึงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ ในช่วงนี้อาจให้ลูกกินนมผสม ทดแทนไปก่อน

ส่วนการอุ้มลุกคนโตนั้นควรอุ้มให้น้อยลง เพราะด้วยอายุครรภ์ของคุณแม่และน้ำหนักของลูกคนโตที่เพิ่มมากขึ้น เวลาอุ้มอาจทำให้มีอาการปวดหลังหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

3. แม่ลูกผูกพัน
ถึงแม้จะไม่สามารถให้นมและอุ้มลูกคนโตได้ แต่ก็สามารถสนุกกับลูกทั้งสองไปพร้อมๆ กันได้ด้วยการเล่น เช่น ร้องเพลงหรืออ่านนิทานให้ลูกฟังพร้อมกัน หรือถ้าลูกคนโตเริ่มพูดได้แล้ว อาจให้ลูกคุยหรือร้องเพลงให้น้องในท้องฟังก็ได้ ก็ทำให้อารมณ์ดี สนุกสนานทั้งแม่และลูก แต่ก็ต้องระวังการเล่นที่รุนแรงหรือกระทบต่อลูกในท้องด้วย เช่น ระวังอย่าให้ลูกคนโตทับท้อง เป็นต้น

4. พักผ่อนอย่างเพียงพอ
คุณแม่ต้องหาผู้ช่วยแล้วล่ะค่ะ เพราะหากต้องเลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับการตั้งครรภ์ แล้วยังต้องทำงานบ้านอีก จะทำให้เหนื่อย อ่อนเพลีย และสุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง รวมถึงจะทำให้เกิดความเครียดและกดดันกับการทำหลายอย่างพร้อมกัน จึงควรหาผู้ช่วยมาช่วยจัดการงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน อาจเป็นคุณพ่อ ญาติสนิทหรือพี่เลี้ยง เพื่อช่วยดูแลลูกและ แบ่งเบางานในบ้าน คุณแม่จะได้มีเวลาสำหรับการพักผ่อน อย่างเพียงพอ

5. อาหารและออกกำลังกายก็จำเป็น
ถึงแม้จะไม่ใช่การตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่เรื่องอาหารและการออกกำลังกายก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะคุณแม่ที่เพิ่งคลอด น้ำหนักยังไม่กลับสู่สภาวะเดิม จึงต้องควบคุมอาหารให้ดี ให้น้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ อย่าให้เพิ่มขึ้นมากและเร็วเกินไป พยายามกินอาหารที่มีประโยชน์ให้มากเพราะต้องใช้พลังงานสำหรับลูกทั้ง 2 คน จึงควรเน้นกินอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ลดอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง ของหวานหรือขนมจุบจิบ

ส่วนการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด ก็คือ การพาลูกไป เดินเล่นหรือว่ายน้ำ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็ให้ลูกนั่งในรถเข็นแล้ว คุณแม่เข็นรถเดิน หรือจูงลูกเดินในที่หัดเดินของเด็ก แต่ถ้า ลูกเริ่มวิ่งเล่นหรือว่ายน้ำเป็นแล้ว อาจพาลูกไปวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะหรือว่ายน้ำก็ได้

6. อารมณ์ดี..สิ่งสำคัญ
อารมณ์ของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ต้องดูแลไม่แพ้สุขภาพกาย เพราะหากหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ก็จะไม่เป็นผลดีต่อเจ้าตัวเล็กและลูกในท้องด้วย จึงต้องดูแลตัวเองให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ อาจทำกิจกรรมที่ชอบ เล่นกับลูก แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส ไปเที่ยวกับสามี พูดคุยกับเพื่อน หรือญาติที่สนิทในเรื่องที่สบายใจ ก็จะช่วยผ่อนคลายอารมณ์และทำให้มี กำลังใจมากขึ้น

เตรียมของใช้จำเป็น..ให้เจ้าตัวน้อย


เด็กเล็กๆมีของใช้กระจุกระจิกอยู่พอสมควร และเป็นของใช้เฉพาะที่ไม่ควรใช้ร่วมกับผู้ใหญ่ ดังนั้น การเตรียมของใช้พื้นฐานที่จำเป็น
คุณแม่ควรเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด จะได้ไม่ฉุกละหุกมากนักเมื่อคลอดลูกน้อยออกมาแล้ว

• อ่างอาบน้ำ ควรเลือกอ่างอาบน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เลือกอ่างที่ทำจากพลาสติกเนื้อหน้า ไม่มีรอยคม
ขนาดกลางๆไม่ใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป

• ผ้าปูที่นอน อาจจะใช้ผ้าอ้อมผืนใหญ่ปูเป็นผ้าปูที่นอนก็ได้

• ผ้าห่ม เลือกที่ไม่มีขนฟูและขนาดพอเหมาะ

• ผ้าอ้อม เด็กต้องใช้ผ้าอ้อมกันทุกคน ถึงแม้ปัจจุบันการใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะสะดวกสบาย แต่การใช้ผ้าอ้อมเหมาะกับอากาศประเทศไทย
และประหยัดเงินไปได้มาก ควรใช้ผ้าอ้อมกึ่งสำเร็จรูปเมื่อจำเป็นเช่น ใสช่วงกลางคืน หรือออกไปนอกบ้าน

• เสื้อผ้าเด็ก ไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะเกินไป เพราะเด็กทารกโตเร็ว เลือกซื้อให้เหมาะกับช่วงอากาศช่วงที่เด็กเกิด และเผื่อไซต์ไว้เล็กน้อย

• สำลี แบ่งใส่เป็น 2 กล่อง กล่องหนึ่งสำหรับเช็ดตา เช้ดสะดือ เช็ดหัวนมคุณแม่ ให้ใส่น้ำอุ่นสุกและกล่องที่ใส่ควรเป็นกล่องที่นำไปต้มฆ่าเชื้อได้
และมีฝาปิด ส่วนอีกกล่องสำหรับเช็ดก้นเด็ก ใส่น้ำธรรมดา เป็นกล่องพลาสติกธรรมดาแต่ควรมีฝาปิด

• ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก อาทิ แชมพู สบู่ น้ำยาซักผ้า แป้ง โลชั่น ควรเลือกที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทารกเท่านั้น

• เตียงนอนและฟูก การจัดที่นอนเป็นสัดส่วนให้กับลูกน้อย นับเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับลูกได้ดังนั้นต้องเลือกเตัยงที่ปลอดภัย
เพียงพอสำหรับบ้านที่ไม่สะดวกจะมีเตียงนอน ก็อาจจะซื้อฟูกที่ไม่แข็งหรือนิ่มเกินไป

• กรรไกรตัดเล็บ ซื้อกรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จะช่วยให้คุณแม่จับถนัดมือมากขึ้นค่ะ

• ถังใส่ผ้าอ้อม ผ้าที่เปื้อนแล้วต้องใส่ถังไว้ต่างหากจากผ้าชิ้นอื่นๆของลูก และควรซักทุกวัน

• ผ้ายางกันน้ำ ควรมีไว้สัก 2 ผืน สำหรับปูบนที่นอนป้องกันไม่ให้ลูกเปียก เลือกผ้ายางที่มีด้านไม่ลื่น เพื่อไม่ให้ผ้าลื่นหลุดง่าย

Tips วิธีพับผ้าอ้อมพับแบบสามเหลี่ยม
• พับครึ่งลงมาทบกัน
• ดึงมุมผ้า ด้านใดด้านหนึ่ง แล้วกางมาอีกฝั่ง เป็นรูปสามเหลี่ยม
• พลิกกลับด้าน แล้วพับผ้าเป็น 2 ทบเข้ามาหากึ่งกลางพับแบบรูปว่าว
• พับมุมลงมาให้เป็นรูปสามเหลี่ยม
• พับปลายด้านล่างขึ้นไปหากึ่งกลาง
• พับมุมด้านบนลงมาหากึ่งกลาง

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

สัญญาณเริ่มต้นที่จะเป็น..คุณแม่

หากคุณสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ลองตรวจสอบสัญญาณเริ่มต้นได้ที่นี่ค่ะ


ประจำเดือนขาด
นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ชัดเจนที่สุด หากปกติแล้วประจำเดือนของคุณมักมาตรงเวลาควรลองทดสอบ การตั้งครรภ์ได้แล้ว

แพ้ท้อง สัญญาณบ่งบอกว่าคุณตั้งครรภ์
อาการแพ้ท้อง มักแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่บางท่าน อาจมีอาการคลื่นไส้หรือรู้สึกไม่สบาย โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ได้สัก 2-3 สัปดาห์
แต่บางท่านก็มีอาการเพียงแค่ไม่กี่วันหลังตั้งครรภ์ ถ้าโชคดี คุณอาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้ และการแพ้ท้องอาจเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้

ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเช้าเสมอไป

ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ถ้าคุณสังเกตเห็นว่าตัวเองเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณที่น่ายินดีว่าคุณกำลังเริ่มตั้งครรภ์แล้ว ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

ในช่วง 3เดือนแรกจะทำให้คุณปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

รู้สึกเหนื่อยง่ายหรือเปล่า
สัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ที่พบเห็นได้บ่อยอีกประการหนึ่งก็คือความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหมดเรี่ยวแรง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการเพิ่มขึ้น

ของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายดังนั้นหากคุณรู้สึกเหนื่อยง่ายโดยไม่มีสาเหตุลองตรวจสอบดูว่าเป็นเพราะคุณกำลังตั้งครรภ์หรือเปล่า

รสชาติแปลกๆ ในปาก
คุณแม่บางท่านเล่าว่าครั้งแรกที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกขมเฝื่อนหรือมีรสชาติแปลกๆในปากขณะที่คุณแม่อีกหลายท่านก็รู้สึกเหม็นหรือทนไม่ได้

กับอาหารหรือเครื่องดื่มที่เคยทานอยู่ทุกวันเช่นชาหรือกาแฟ

การเปลี่ยนแปลงของเต้านม
ผิวหนังบริเวณรอบเต้านมหรือที่เรียกว่าลานนมจะมีสีคล้ำขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น

มีเลือดออกโดยไม่คาดคิดหรือเป็นตะคริว
ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะเดินทางจากท่อนำไข่เพื่อไปฝังตัวที่ผนังมดลูกและรอการเติบโต กระบวนการนี้เรียกว่า การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว

และมักจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียง เช่น การเป็นตะคริว และมีเลือดออกกะปริดกะปรอย โดยเลือดอาจมีสีแดงสด

สีชมพู หรือสีน้ำตาล

ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยการทดสอบการตั้งครรภ์
แน่นอนว่าหนทางเดียวที่จะแน่ใจว่าคุณตั้งครรภ์แล้วก็คือการทดสอบการตั้งครรภ์โดยผลทดสอบนับจากวันแรกที่ประจำเดือนขาดไป

หากเป็นผลบวกก็มั่นใจได้ว่าตั้งครรภ์แน่นอน